Metaverse กับโลกของการลงทุน-ธุรกิจ

Metaverse กับโลกของการลงทุน-ธุรกิจ

ประเด็นร้อนแรงในแวดวงธุรกิจและการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาหนีไม่พ้นเรื่องของกระแส Metaverse หลังจาก Facebook ประกาศรีแบรนด์ตัวเอง สะท้อนภาพลักษณ์ที่พยายามจะเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และวางแผนธุรกิจมุ่งสู่โลก Metaverse อย่างเต็มตัว

ทั้งนี้ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแส Metaverse ไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงก่อนหน้าเราเคยได้ยินเรื่องของแพลตฟอร์ม Shopping Online ยักษใหญ่ในจีนที่มีการจดลิขสิทธิ์ในเรื่องนี้ และความพยายามที่จะยกระดับของการซื้อของออนไลน์จากรูปภาพไปยังสิ่งที่อาจจะเห็นภาพหรือสัมผัสได้มากขึ้น หรือธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีของโลกเสมือนเหล่านี้ในการควบคุมกระบวนการการผลิตผ่านทางออนไลน์เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า Metaverse นั้นเป็นที่รู้จักกันมาหลายปีแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันความเป็นไปได้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก Ecosystem ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนา เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงผู้ใช้งานเองด้วย ดูจะพัฒนาไปในทางที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง โดยในส่วนนี้อาจจะขอไม่อธิบายว่า Metaverse คืออะไร ซึ่งน่าจะหาอ่านกันได้อย่างแพร่หลายในช่วงที่ผ่านมา แต่วันนี้เราจะหยิบยกประเด็นบางข้อที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนและการทำธุรกิจมาพูดคุยกันครับ .. ในโลกของธุรกิจและการลงทุนจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหาก Metaverse พัฒนาและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของธุรกิจการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นแน่ หากเรายังจำกันได้ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 20 ในวันที่ธุรกิจยังอาศัยช่องทางในรูปแบบเดิม การนำเสนอสินค้า การสื่อสารและการโฆษณาก็ยังอาศัยผ่านช่องทางที่จำกัด การมาถึงของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เคยทำให้การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนไปอย่างมากมาครั้งหนึ่งแล้ว

เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลองนึกถึงในช่วงแรกๆที่บริษัทต่างๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มต่างๆ เหล่าที่ ทำเพียงจัดตั้งพนักงานกลุ่มเล็กๆ มาคอยดูแลเรื่องของบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ ของบริษัท และไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก มาเป็นการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังในปัจจุบัน

การขายของจากหน้าร้านดั้งเดิมมาเป็นการขายของออนไลน์ที่เปิดโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล ช่องทางการทำธุรกิจและโฆษณามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งให้ผู้ชนะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย และในรอบนี้การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าในรอบก่อนหน้าเสียด้วยซ้ำเมื่อพิจาณาจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมบริษัทหลายๆ แห่งถึงได้มีการลงทุนทรัพยากรต่างๆ มากมายเพื่อให้เป็น First Mover ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ในส่วนถัดไปคือเรื่องของการพัฒนาสินค้าในรูปของดิจิทัล โดยหากโลกเสมือนเกิดขึ้นจริง สินค้าที่เคยเป็นที่นิยมในโลกจริงก็อาจจะเป็นที่ต้องการในโลกของดิจิทัลเช่นกัน รวมถึงการซื้อขายสินค้าดิจิทัล ซึ่งเราน่าจะเห็นจากการเติบโตของ Non-fungible Token หรือ เกมส์ Play-to-earn ต่างๆ ที่เติบโตขึ้นอัตราที่น่าเหลือเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจจะให้อรรถประโยชน์ในลักษณะอื่นๆ นอกจากการบริโภค และทำให้เกิดอุปสงค์จำนวนมากได้เช่นกัน นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยก็จะทำให้ในเรื่องของความโปร่งใสนั้นมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ถัดไปคือเรื่องของกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น Remote Work ซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางด้านการเดินทางจากการแพร่ระบาด ซึ่งแรกๆ เราจะเห็นเพียงแค่แพลตฟอร์มสำหรับการประชุมออนไลน์ แต่ในช่วงหลังเราเริ่มเห็นแพลตฟอร์มลักษณะของ Virtual Office มากขึ้น ซึ่งก็เป็นที่นิยมเช่นกัน นอกจากนั้นยังรวมถึงการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนและ AI และ Cloud Computing มาเป็นตัวช่วยในกระบวนการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในกรณีของ Anheuser-Busch InBev ผู้ผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีแบรนด์ที่เรารู้จักคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เช่น Budweiser และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีการร่วมมือกันกับ Microsoft ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตผ่านการจำลองโรงหมักเบียร์ในรูปแบบดิจิทัลที่ให้ข้อมูลในแบบเรียลไทม์ เพื่อปรับและควบคุมคุณภาพของการผลิต ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลประโยชน์ที่ได้อีกอย่างของภาคธุรกิจนั่นคือเรื่องของความยั่งยืนของการกิจ กับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะลดการเดินทางของผู้คน ลดการใช้แรงงาน ลดการผลิตสิ่งของที่กระบวนการผลิตก่อให้เกิดต้นทุนกับสิ่งแวดล้อมทั้งก่อนและหลังด้วย

ท้ายนี้ในส่วนของโลกการลงทุนก็คงหนีไม่พ้นประเด็นหลักๆ ในการเฟ้นหาธุรกิจที่เป็นผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่นี้ ดังเช่น ที่เคยเกิดขึ้นบริษัทชั้นนำต่างๆ ในด้านโซเชียลมีเดีย ที่เริ่มการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคก่อน และสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้ก่อนคนอื่น รวมถึงการวิเคราะห์ธุรกิจที่จำเป็นจะต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ Megatrend ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย ธุรกิจที่เราจะเลือกลงทุนในระยะยาวไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม แต่หมายถึงธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องและอาศัยการเปลี่ยนแปลงของแพลต์ฟอร์มต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจและการขยายกิจการด้วย

การมาถึงของ Metaverse และการพัฒนาที่อาจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่เรารู้แน่นอนคือเรื่องของ Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ และพัฒนาตัวเองให้รู้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ปรับตัวในสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นโลกของธุรกิจหรือการลงุทน เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในระยะยาวครับ