ลงทุนยาวข้ามผ่านความผันผวนรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ก่อน
บรรยากาศการลงทุนในเดือนต.ค. ดูอารมณ์ดีในช่วงต้นเดือน ก่อนที่จะทรงๆ ยาวไปจนถึงสิ้นเดือน ดูได้จาก SET Index ที่ แกว่งตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์แรก
ก่อนที่จะทรงตัวนิ่งหลังจากนั้น โดยมีค่าความผันผวน (Volatility) ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไม่มีปัจจัยอะไรมาผลักดันไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน โดยปัจจัยที่ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนผมให้น้ำหนักเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล สหรัฐอเมริกา ที่ทางตัวอยู่ในระดับสูง หลังจากที่เหล่านักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับขึ้นคาดการณ์ดอกเบี้ย Fed Funds ในอนาคต ขณะที่ประเด็นเรื่องของ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวได้ในระดับสูง ก็มีผลกดดันต่อ ภาวะเงินเฟ้อของโลกโดยรวม ในทางกลับกันราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลบวกต่อ ธุรกิจพลังงาน ของไทยโดยตรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานที่สูงมากในกลุ่มบริษัทจดทะเบียน
สำหรับปัจจัยอื่นๆที่น่าสนใจในเดือนต.ค. ที่ผ่านมานั้นได้แก่ ผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ที่มีมติคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดอีกวันละ 4 แสนบาร์เรลในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นระดับเทียบเท่ากับมติก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดน้ำมันยังอยู่ในสภาวะอุปทานตึงตัวอยู่ และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งเดือน ส่งผลต่อ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นอีกต่อหนึ่ง ถัดมาก็คือ ปัจจัยภายในประเทศของเราเอง หลัง การแถลงของนายกรัฐมนตรีให้มีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นไป
ส่งผลบวกต่อค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มทยอยปรับตัวแข็งค่าในเดือนนี้ สุดท้ายคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่อง (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) ซึ่งเป็นตัวเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค หรือ กระตุ้นการบริโภคในภาคอสังหาริมทรัพย์
ในส่วนของเดือนพ.ย.นั้น ประเด็นที่ควรติดตามมากที่สุด คือการประชุม FOMC ในวันที่ 2-3 พ.ย. ซึ่งเราคาดว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะประกาศเริ่มการลดวงเงิน QE (Tapering) อย่างเป็นทางการ ที่ระดับเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวไปสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.ปีหน้า (2565) แต่ต้องบอกว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่ในการคาดการณ์ของนักลงทุนไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่น่ามีผล กระทบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่น่าจะมีอิทธิพลมากกว่าก็คือระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะมีผลต่อไปยังคาดการณ์เงินเฟ้อและคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งหากยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง ผมมองว่าจะเป็นปัจจัยกดดันในภาพรวมของการลงทุนได้ ทำให้เราควรจะต้องติดตามการประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 พ.ย. ว่าจะมีการคงระดับการคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดวันละ 4 แสนบาร์เรลต่อไปหรือไม่
และพอร์ตที่เหมาะสมกับสภาวะที่ยังปัจจัยเชิงนโยบาย คือ ให้ถือครองหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 50 โดยกระจายอยู่ในหุ้นไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ในสัดส่วน เท่าๆกัน กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือ รีท ประมาณ ร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และตลาดเงิน อย่างไรก็ดี เดือนนี้ก็เข้าช่วงเวลายอดนิยมเพื่อการออมเงินระยะยาว และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ก็มีทั้ง RMF และ SSF หากท่านไหนสนใจกระจายการลงทุนระยะยาวไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทาง บลจ.วรรณ ได้เสนอขายกองทุนเปิด วรรณ เวียดนาม อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ หน่วยลงทุนชนิดทั่วไป (ONE-VIETNAMRMF-A) เน้นลงทุนแบบ Fund of Funds เรายังเชื่อเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามยังแข็งแกร่งแม้จะประสบปัญหาการระบาดของ โควิด-19 โดยในปี 2020 GDP ของเวียดนามยังคงขยายตัว 2.9% โดยกองดังกล่าว บริหารแบบ Active Fund นอกจากนนี้ เรายังมีกองทุนเปิด วรรณ ดิสคัพเวอรี่ เพื่อการเลี้ยงชีพ" (ONE-DISCRMF) เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กไม่จำกัดภูมิภาคทั่วโลก ผมนำเสนอเป็นแนวทาง เพราะผมมองว่า การลงทุนระยะยาว มีข้อดี คือ จะทำให้คุณถือลงทุนเพื่อข้ามผ่านปัจจัยความผันผวนในช่วงนี้ได้ โดยเฉพาะการรอความชัดเจนเชิงนโยบาย
แต่ถ้าให้ผมแนะนำ เราก็ต้องมาดูกันว่า ณ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องพิสูจน์ความเชื่อว่า ปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นแบบไหน สถานการณ์โควิด-19 จะแค่ทรงตัวหรือดีขึ้น สภาวะการณ์ด้านพลังงานจะกลายเป็นวิกฤติรอบใหม่ หรือแค่ชั่วคราว ส่วนตัวผมมองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปโควิด-19 จะดีขึ้นแต่น่าจะเป็นลักษณะที่เราจะอยู่ร่วมกับมันได้สบายขึ้นเพราะมีวัคซีน และยารักษา ออกมาแล้ว ด้านระดับราคาพลังงาน คิดว่าคงสูงไปอีกสักระยะหนึ่งและจะเริ่มแผ่วช่วงกลางปี แต่อาจจะไม่ได้ถูกเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ดังนั้น สถานการณ์นี้การลงทุนเป็นกองหุ้น น่าจะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าสำหรับคนไม่เน้นผลตอบแทนมากแต่เน้นดูแลเงินต้น ยังคงแนะนำ กองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ ตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นการจัดพอร์ตแบบไม่หวือหวา ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงของแต่ละท่านครับ