ทำไมคนลาออกหลังโควิด? (2)
จากสภาวะการณ์ The Great Talent Acquisition ที่คนเก่งจะถูกซื้อตัวและทำให้มีคนลาออกในช่วงหลังพ้นวิกฤติที่เคยเล่าให้ทุกท่านฟัง ผมมองว่าลูกจ้างมืออาชีพ ส่วนใหญ่ไม่อยากย้ายที่ทำงานบ่อย ๆ ยกเว้นเกิดแรง PUSH และแรง PULL ขึ้นพร้อมกัน
แล้วแรง PUSH และแรง PULL ที่อาจเกิดขึ้นมีรูปแบบเป็นอย่างไร?
ตัวอย่างนี้คือสถานการณ์สมมติ
“สมกมล” พนักงานดาวรุ่งของบริษัทเอกชนไทย จบปริญญาโทบริหารการเงินจากต่างประเทศ ทำงานที่นี่มาแล้ว 5 ปี ผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการว่าเป็นคนเก่ง ซื่อสัตย์ และมีความคิดก้าวหน้า มักมีบริษัทชั้นนำของต่างประเทศมาชวนไปทำงานเสมอ โดยเสนอให้เป็นผู้บริหารระดับสูง เงินเดือนเพิ่มสองเท่า มอบหมายงานดูแลตลาดต่างประเทศให้รับผิดชอบ เป็นแรง PULL ที่ทำให้สมกมลหวั่นไหวหลายครั้ง
เจ้านายของสมกมล เป็นคนเก่าแก่ของบริษัท เจ้าของไว้วางใจ ไม่ถนัดด้านเทคโนโลยี ประหยัด เจ้าระเบียบ สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยม ทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากบริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต ในการทำงานบางครั้งสมกมลเกิดความขัดแย้งกับเจ้านาย สมกมลเกิดแรง PUSH ถามตัวเองว่าควรจะรับข้อเสนอของบริษัทใหม่หรือไม่
เมื่อแรง PULL กับ PUSH เกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อไหร่ ทำงานมานานแค่ไหน ก็พร้อมจะลาออก
การทำงานช่วงโควิด พนักงานหลายคนถูกกดดัน เครียดจากการทำงานจากที่บ้าน ต้องปรับตัวกับประชุมที่มีมากเป็นพิเศษ ไปไหนไม่ได้ อยู่บ้านทุกวัน ต้องทำยอดขายและโดนติดตามงานตลอดเวลา รู้สึกอึดอัด อยากเป็นอิสระในการทำงาน อยากเปลี่ยนงาน แต่ช่วงโควิด ทุกคนต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่กล้าขยับตัวลาออก หรือไปเริ่มธุรกิจใหม่ จึงต้องอดทน เกาะฐานเดิมของตัวเองอย่างแน่นหนา
หากวิกฤติผ่านพ้นไป มองเห็นโอกาสมากขึ้น ต้องการชีวิตสมดุล เกิดแรงผลักที่อยากเป็นอิสระ เมื่อมีคนมาเสนองานใหม่ ให้เงิน ให้ตำแหน่ง และงานที่ท้าทาย ก็ทำให้คนเก่งและมีความสามารถกลุ่มนี้ พร้อมกระโดดไปที่ใหม่ บรรยากาศใหม่ ค้นหาความท้าทายในชีวิต และอิสระภาพการทำงาน
หลังพายุฝน ฝูงนกกาที่แตกรัง บินโผออกจากร่มไม้ที่ล้มหักโค่น บินว่อนหากิ่งเกาะบนต้นไม้ใหม่ พนักงานก็เช่นกัน โอกาสและเงินเดือนใหม่ ตำแหน่งงานที่ท้าทาย เป็นสิ่งที่ล่อใจให้โผออกจากรังเดิม ขยายถิ่นฐาน หวังเติบโตจากนกน้อยกลายเป็นปักษาใหญ่บินเหนือพงไพรกว้างขวาง
ผมคิดว่าอภิมหาลาออก หลังโควิดอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะผู้บริหาร จะสร้างเกราะป้องกันไม่ให้นกออกจากรัง ไม่ให้คนเก่งหนีจาก ไม่ให้พนักงานถูกขโมย เป็นงานสำคัญไม่แพ้กับการนำพาธุรกิจให้รอดจากวิกฤต ธุรกิจจะเติบโตได้ต้องอาศัย “คน”
ผมคิดว่า นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ของภาคธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกัน เพื่อรักษาพนักงานของบริษัทไว้
โดยควรตั้งคำถามว่า...องค์กรจะรักษาพนักงานให้อยู่กับเราอย่างไร?