“เศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ อเมริกาและจีนคือตัวแปร”
ช่วงหกสัปดาห์ท้ายปี มีอะไรหลายอย่างที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษโดยเฉพาะปีนี้ โควิดคุมได้หรือยัง เศรษฐกิจจะกลับมาหรือไม่ จะปิดหรือเปิดประเทศอย่างไร วัคซีนมีเพียงพอหรือไม่ เผชิญหน้าสู้กับความเป็นจริง เพื่อความอยู่รอดระยะยาว ราคาพลังงานขึ้น อาหารขาดแคลน การขนส่งขลุกขลัก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้นำแต่ละประเทศกำลังปวดหัวครับ
โควิดยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเครือข่ายการผลิต การบริการ และการขนส่งทั่วโลก อเมริกาสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากจากจีน แต่เรือขนส่งไปติดค้างไม่สามารถเอาคอนเทนเนอร์ขึ้นท่าในอเมริกา พนักงานท่าเรือทำงานไม่เต็มพิกัด เทคโนโลยีท่าเรือยังโบราณ ห่างจากจีนหลายทศวรรษ
ชาวอเมริกันหลายล้านคนเปลี่ยนงาน และไม่ยอมกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม กำลังค้นหาตนเอง และเลือกวิธีการทำมาหากินใหม่ บ้างก็ยอมลดความฟุ่มเฟือยและหันมาพึ่งเศรษฐกิจพื้นฐาน ใช้งบประมาณจำกัด เป็นการเรียนรู้ชีวิตใหม่ นี่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีครับ เพราะชาวอเมริกันปกติแล้วบริโภคเกินตัว
เยาวชนทั่วโลกแสดงความผิดหวังต่อผลประชุมแก้ไขปัญหาโลกร้อน COP26 พวกเขาเพิ่มความไม่ไว้วางใจ ต่อผู้นำทางภาครัฐและเศรษฐกิจ มีการรณรงค์ชุมนุมต่อเนื่องออนไลน์ เป็นพลังคลื่นใต้น้ำ ไม่จำกัดพรมแดนของประเทศ และอาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเยาวชนที่จะไม่ทนต่อไปอีกแล้ว
สหประชาชาติและผู้นำหลายประเทศทพยายามหาบทสรุปที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ แต่ถ้อยคำที่สละสลวยจาก COP26 นั้น คงยากที่จะนำมาสู่ภาคปฏิบัติได้ ถึงแม้มีสิ่งมหัศจรรย์บันดาลให้สมาชิกทุกประเทศที่มาประชุมครั้งนี้นำไปปฏิบัติครบถ้วน อุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็น 1.8 องศาเซลเซียส (เกินกว่า 1.5 องศา ที่เป็นตัวเลขอันตราย เพราะระบบนิเวศจะเสียหายแบบไม่มีทางแก้ไขกลับมาอีก)
เปรียบเสมือนกับว่าเรามีระยะทางเหลืออยู่อีก 500 เมตรจะตกหน้าผา แต่ปัจจุบันเราขับรถมา และแตะเบรคเพื่อจะหยุดที่ 600 เมตร
เงินยูเอสดอลลาร์กำลังเพิ่มเติมเข้าในกระแสอีกเป็นจำนวนมาก หลังจากประธานาธิบดี Biden ผลักดันงบประมาณสาธารณูปโภค 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาและเซ็นเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
และสัปดาห์นี้ รัฐสภาสหรัฐกำลังจะเกาะกระแส ฉวยจังหวะเพิ่มงบประมาณใหญ่ Build Back Better เข้าไปอีก 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะผ่านการอนุมัติเช่นกัน
ฉะนั้นหากดัชนีหุ้นของสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัทยอดนิยมในตลาดหุ้นอเมริกันเพิ่มมูลค่า ทำสถิติใหม่ ก็เป็นเพราะเงินสะพัดในกระแสและเงินไม่มีที่ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจทั่วไปในอเมริการะดับพื้นฐานจะฟื้นตัวเร็วถึงขนาดนั้น
การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบโดยภาครัฐนั้น จะส่งผลเศรษฐกิจในภาพรวมหลังจากเงินเข้ากระแสประมาณ 18 เดือน การเพิ่มของดัชนีหุ้นที่เรากำลังเห็นนี้ คือการวิ่งนำไปก่อน
เงินอเมริกันดอลลาร์จำนวนมากเหล่านี้ หลุดเข้าไปในการลงทุน crypto มาก แถมนโยบายเข้มงวดของรัฐบาลจีนเรื่อง crypto ทำให้เงินไหลออกนอกจีน ตลาดอเมริกาได้ประโยชน์ การที่เงินสะพัดแล้วหุ้นขึ้นสูง แปลว่ามูลค่าของเงินสกุลตราหลักเช่นยูเอสดอลล่าร์ลดค่าลง crypto เลยกลายเป็นที่พึ่งใหม่ ในการรักษามูลค่าของทรัพย์สินระยะยาว
ผู้เชี่ยวชาญทาง crypto หลายคน ประกาศด้วยความมั่นใจเป็นเสียงเดียวว่า BITCOIN น่าจะขึ้นถึง 135,000ดอลลาร์ ก่อนสิ้นปี
การเมืองในอเมริการ้อนกรุ่น เพราะวุฒิสมาชิกและผู้แทนฯฝ่ายรีพับลิกันหลายคน ข้ามฝั่งแตกแถวไปร่วมลงคะแนนสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคกับพรรคเดโมแครต ความไม่พอใจภายในพรรครีพับลิกันทำให้เกิดการวางแผนลงโทษคนกลุ่มนี้ เช่นจัดคู่แข่งเข้าไปชิงตำแหน่งการเป็นตัวแทนพรรครอบแรก (primary election)
ข่าวลือล่าสุดที่กำลังเป็นที่ฮือฮากัน คือการแถลงจากอดีต White House Chief of Staff- Mark Meadows ว่ารีพับลิกันมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งกลางเทอม เดือนพ.ย.ปีค.ศ. 2022 และได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ และจะเสนอชื่ออดีตประธานาธิบดี Trump ให้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ (ซึ่งตามกฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว พรรคที่ได้เสียงข้างมากมีสิทธิ์จะเสนอใครก็ได้เป็นประธานฯ โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนราษฎร)
สถานการณ์โควิดในอเมริกายังน่าเป็นห่วง อีกไม่กี่วันคงมีการประกาศฉีดเข็มที่สาม Pfizer & Moderna ให้กับทุกคนที่ต้องการ booster shot ฤดูหนาวนี้หลายประเทศในยุโรปก็กังวลว่าจะมีการระบาดหนักเช่นกัน ประชาชนหลายประเทศในยุโรปประท้วงกฎเข้มงวดของรัฐบาล เช่นเยอรมันประกาศล็อคดาวน์ผู้ที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนเป็นต้น
ไม่กี่วันมานี้ การประชุมสนทนาเชิงลึกเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำสหรัฐและจีน โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงครึ่งผ่านจอ (virtual meeting between Biden & Xi) ทั้งสองฝ่ายยังสงวนท่าที และตั้งแง่หลายอย่าง เสนอภาพต่อผู้บริโภคข่าวของบ้านตนเอง ตลาดหุ้นตอบสนองในทางบวกขึ้นบ้าง เพราะตราบใดที่ยังมีการเจรจากัน ก็ถือว่ายังมีช่องทางที่จะเก็บเอาไปเป็นเรื่องราวที่สร้างสรรค์ได้บ้าง
นักลงทุนหลายคนทางตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐ ยังมีความมั่นใจกับคุณภาพของบริษัทชั้นนำในจีน และถือหุ้นไว้โดยไม่ยอมเทขาย ถึงแม้ราคาจะตกปีนี้อย่างหนัก แต่น่าเป็นห่วงบริษัทจีนเหล่านี้ครับ เพราะตัวเลขขยับขึ้นลงโดยที่ไม่มีหลักการ ขณะที่หุ้นคล้ายกันในอเมริกากลับเพิ่มมูลค่า
NIO เป็นบริษัทรถยนต์ EV ที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของจีน และมีมาตรฐานสูงมาก ทำการตลาดเชิงรุกและได้รับการตอบสนองดีมากในยุโรป โดยเฉพาะการเริ่มต้นที่นอร์เวย์ ปีนี้หุ้นกลับตก 15.72% มูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 62.94 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับ TESLA ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 142.66% และมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 1.1ล้านล้านดอลลาร์
ALIBABA เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน หุ้นตกปีนี้แล้ว 44.56% มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 407.85พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ AMAZON บริษัทอีคอมเมิร์ซอเมริกาหุ้นกลับขึ้น 18% และมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 1.87ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งสี่บริษัทข้างต้นนี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสงครามจิตวิทยา ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี จากความระแวง และความกลัวจีน ที่เติบโตรวดเร็วและมีพลังต่อรองทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังโดนกดดัน ให้เลือกฝ่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม การทหาร ความมั่นคง เรื่องไต้หวัน สิทธิมนุษยชน สิทธิบัตรทางปัญญา การผลิตอาวุธที่มีสมรรถนะสูง การแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีคำนวณและสื่อสารอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเงิน การรุกทางวัฒนธรรม ต่างๆ เหล่านี้ เป็นประเด็นที่ผู้นำแต่ละประเทศต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากวางตัวเป็นกลางได้คงจะดีที่สุด ในทางปฏิบัติเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งละเอียดอ่อนและโอกาสพลาดพลั้งมีมากครับ
เรื่องสหรัฐและจีนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นตัวแปรสูงสุดในการวิเคราะห์เพื่อลงทุนระยะสั้นและยาว รวมทั้งการตัดสินใจนโยบายส่วนบุคคลและสาธารณะ เนื่องจากระบบการเงินและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้นประชาคมโลกให้ความไว้วางใจและพึ่งพาอาศัยสองมหาอำนาจนี้มาก
การปรับตัวให้เข้ากับจังหวะของการเดินหมากของสองมหาอำนาจนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ระยะนี้น่าเห็นใจผู้บริหารประเทศในเอเชียครับ
อเมริกาเองก็หนัก ระบบประชาธิปไตยกำลังโดนทดสอบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แตกเป็นสองขั้ว การเลือกตั้งทุกครั้งยังน่าหวาดเสียว ความสับสนของข่าวสารจากแหล่งที่ขาดมาตรฐาน ทำให้ข่าวลือข่าวลวงมาแย่งชิงพื้นที่ของความมีเหตุผล
ส่วนจีนซึ่งอาศัยความเฉียบขาด รวบอำนาจ วินัยสูง แต่ก็มีปัญหาภายในหลายกรณี ที่ทำให้ผู้นำต้องใช้มาตรการด่วนแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป นโยบายหลายอย่างขัดต่อความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก ผู้เสียผลประโยชน์โดยเฉพาะมหาเศรษฐีซึ่งร่ำรวยมาจากเศรษฐกิจใหม่ จำยอมเปลี่ยนทัศนคติหันมาให้ความสำคัญกับความเกื้อกูลกันในสังคม
ผมมั่นใจว่าผู้นำของสหรัฐและจีน จะพยายามประคับประคอง ให้เศรษฐกิจสานต่อไปอย่างราบรื่นพอควร การเมืองภายในสองประเทศนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เราทุกคนต้องติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ กระจายความเสี่ยงอย่างมีวินัย ไม่ประมาท ดูแลสุขภาพและบริโภคด้วยความไตร่ตรองรอบคอบ เพื่อช่วยถนอมระบบนิเวศให้ยั่งยืนตลอดไปครับ