ลงทุนอย่างไรในปี 2022
ปี 2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุน ปัจจัยสำคัญคือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่กำลังกลับสู่ขาขึ้น จากสถิติการขึ้นดอกเบี้ย 4 รอบล่าสุด พบว่าเฟดปรับดอกเบี้ยขึ้นเฉลี่ย 2.8% ในแต่ละรอบ โดยรอบที่ขึ้นรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2004 ถึง 2006 เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 17 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4.25%
เงินเฟ้อคือต้นเหตุของการขึ้นดอกเบี้ยเฟดแทบทุกรอบ ในรอบปี 2004 ถึง 2006 เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบ 3 - 4% เกือบทุกเดือน บางเดือนสูงถึง 4.7% ซึ่งเกินเป้าหมายระยะยาวของเฟดที่ 2% เป็นเวลานาน จึงเป็นที่มาของการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดใน 30 ปี
รอบนี้ แม้เฟดยังไม่ได้ปรับนโยบายการเงิน แต่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยหลังสิ้นสุดมาตรการ QE ในไตรมาสสองของปีหน้า เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงถึง 6.2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ความจริงการขึ้นดอกเบี้ยเฟดในรอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ 0 - 0.25% ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ แต่ที่ตลาดทุนเริ่มกังวล คือปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอาจคลี่คลายได้ไม่เร็วอย่างที่คิด สร้างแรงกดดันให้ดอกเบี้ยเฟดเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.75% ที่สะท้อนในตลาดล่วงหน้า Fed Funds Futures
ผมยังเชื่อว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นภาวะชั่วคราว ที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการ ในขณะที่ภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายด้านห่วงโซ่อุปทาน เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นภายในครึ่งหลังของปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะชะลอลง
บ่อยครั้งที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกดดันให้หลายประเทศใน Emerging Markets ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อรักษาค่าเงินและป้องกันเงินไหลออก ข้อดีคือไทยพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยมากในระยะหลัง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และที่สำคัญ เงินเฟ้อไทยยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยก็สูงกว่าสหรัฐฯ ถึง 4%
ที่น่าสนใจ ในช่วงหนึ่งปีแรกของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดใน 4 รอบที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) แทบไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบเลย โดยปรับขึ้นเฉลี่ย 6% ซึ่ง12 เดือนหลังวันปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จะมีก็เพียงช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้นที่ตลาดหุ้นโลกอยู่ในขาลง
ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามคือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ข้อดีคือจำนวนคนทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนแล้วมีสูงถึง 56% และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไทยเองก็ฉีดไปแล้ว 71% อีกทั้งยังมีการพัฒนายาและวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะ Endemics ในที่สุด
แล้วเราควรลงทุนอย่างไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้า?
ผมยังแนะนำให้ถือหุ้นเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังดูแข็งแรง และดอกเบี้ยโลกยังไม่ขึ้นไปสู่จุดที่เป็นอันตรายต่อการลงทุน แต่ควรเน้นลงทุนระยะยาวในหุ้น Value Stock ที่ผลประกอบการเติบโต Valuations ไม่แพงเกินไป และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับ 4% และ SET Index ยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) ปรับขึ้นไปแล้ว 32% Forward P/E ของหุ้นไทยที่ 16 เท่า ไม่ถือว่าแพง อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น ASEAN ที่ 15 เท่าเพียงเล็กน้อย
ปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเกิน 10 ล้านคน ในปีหน้า เราน่าจะได้เห็น SET Index กลับไปเทรดที่ระดับ 1,800 จุด
แนวโน้มเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยมีสูง เพราะนอกจากจุดขายในฐานะประเทศท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อสูง ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย และรัฐบาลยังเหลือพื้นที่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกพอสมควร
การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าคืออีกหนึ่งปัจจัยบวก จากสถิติการเลือกตั้ง 14 ครั้งใน 39 ปีที่ผ่านมา พบว่า SET Index ปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 6% 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง และอีก 7% 12 เดือนหลังการเลือกตั้ง
หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจคือ ธนาคารพาณิชย์ การบริโภค โรงพยาบาล และโทรคมนาคม