5 วิธีสร้างความเชื่อถือ
ความน่าเชื่อถือจะมาพร้อมกับความคิดบวกเสมอ นั่นคือความคิดว่าต้องทำได้
การสร้างความเชื่อถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน หรือการใช้ชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงการรับผิดชอบส่วนรวมระดับที่ใหญ่ขึ้น ทั้งการบริหารกรม กระทรวง ไปจนถึงรัฐบาล ล้วนต้องการความเชื่อถือจากทุกคนรอบข้างด้วยกันทั้งนั้น
บ่อยครั้งที่ผลงานอันเป็นเลิศได้อานิสงส์จากความเชื่อถือจากคนในองค์กร ตลอดจนถึงคนภายนอกและต่างฝ่ายต่างก็ช่วยผลักดันให้งานนั้น ประสบผลสำเร็จ การสร้างความเชื่อถือจึงเป็นการอาศัยพลังจากคนรอบข้างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
แต่การสร้างความเชื่อถือนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การตัดสินใจที่จะเชื่อถือใครสักคนเป็นเรื่องซับซ้อน และสังคมทุกวันนี้ก็มีแต่ข่าวเชิงลบทำให้ยากที่จะตัดสินใจเชื่อถือใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีเบื้องหลังดีเพียงใด ก็มักจะมีบางแง่มุมที่ปกปิดเอาไว้เสมอ
เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีเรื่องส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้ใครเช้ามาก้าวก่าย คนทั่วไปจึงลังเลที่จะมอบความไว้วางใจหรือเลือกที่จะเชื่อถือใครสักคนเพราะไม่มั่นใจในวิถีชีวิตส่วนตัวของเขา ยิ่งทุกวันนี้มีข่าวหลอกลวงให้ได้ยินอยู่เป็นประจำ ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นเพราะหลงไปให้ความเชื่อถือกับคนที่ไม่หวังดี
แต่หากเราใช้วิจารณญาณเต็มที่ อาจมองเห็นได้ว่าแต่ละคน มีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเรื่องความรู้ความสามารถที่พอบอกได้คร่าวๆ หรือจะเป็นแง่คิดจากการพูดคุยก็น่าจะพอเห็นภาพ แต่หากพิจารณาไม่ถ้วนถี่เพียงพอก็อาจเลือกคนผิดพลาดได้ เราจึงควรมีหลักในการพิจารณาว่าควรจะให้ความเชื่อถือกับใครหรือไม่
เริ่มจากข้อแรก เขามีผลประโยชน์ร่วมกับเราหรือไม่ หากมีความสนใจร่วมกันและต่อยอดเป็นความร่วมมือกันได้โดยต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยไม่มีท่าทีที่จะเอาเปรียบกันก็มีโอกาสที่จะสร้างความเชื่อถือกันได้
และจะง่ายขึ้นหากต่างฝ่ายผลัดกันเป็นผู้ให้และผู้รับ ไม่ใช่มีบางฝ่ายเป็นฝ่ายให้แต่เพียงฝ่ายเดียว หรือบางฝ่ายเป็นฝ่ายรับเพียงฝ่ายเดียว การสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกันจะเอื้อให้เกิดความเชื่อถือซึ่งกันและกันได้ง่ายกว่า
ข้อสอง ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องยาวนานเพียงใด หากเป็นการทำงานด้วยกันเพียงครั้งเดียว อาจไม่กลับมาพบกันอีกในอนาคตก็ยากที่จะสร้างความเชื่อถือกันได้ แต่หากมีแนวโน้ม ที่จะได้กลับมาร่วมงานกันอีก หรือมีแนวโน้มที่ต้องทำงานร่วมกันในระยะยาวก็ย่อมสร้างความเชื่อถือได้มากกว่า
ข้อสาม หากได้ทำงานด้วยกันแล้ว ต้องพิจารณาว่าเขามีความพยายามในการทำให้ผลงานบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด หากเขาเป็นคนมีความรู้ความสามารถ แต่กลับทุ่มเททำงานให้เพียง 20%-30% ย่อมสะท้อนว่าเขาไม่เต็มที่กับเรา ความน่าเชื่อถือย่อมลดน้อยลง
ข้อสี่ ความน่าเชื่อถือจะมาพร้อมกับความคิดบวกเสมอ นั่นคือความคิดว่าต้องทำได้ และมองโลกในแง่ดีว่าปัญหาทุกอย่างสามารถจัดการได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเขาจะได้กำลังใจจากทีมงานได้เต็มร้อยและจะผลักดันให้ทีมงานไปถึงเป้าหมายได้ในที่สุด
ขัอห้า นอกเหนือจากทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้วยังต้องมีทักษะในการสื่อสารที่เป็นเลิศเพราะบ่อยครั้งที่งานใหญ่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ต้องอาศัยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมงาน ซึ่งการที่ทุกคนสามารถเข้าใจในวิสัยทัศน์และมีเป้าหมายร่วมกันได้นั้นจำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดี
การสร้างความน่าเชื่อถือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถแต่ต้องอาศัยปัจจัยทั้ง 5 ข้อเหล่านี้ร่วมกัน