รู้จักกับ Depositary Receipt (DR)
ที่ผ่านมาเราได้ทำความรู้จักเบื้องต้นกับ Depositary Receipts (DR) ไปบ้างแล้ว แต่เพื่อให้ผู้สนใจมีข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ผู้เขียนจึงขอรวบรวมประเด็นต่างๆที่เคยมีผู้สอบถามเกี่ยวกับ DR มากล่าวถึงไว้ในที่นี้เพื่อให้เข้าใจลักษณะและกลไลของ DR ได้มากขึ้น
เริ่มต้นด้วยประเด็นแรก DR เหมาะกับใครและมีความแตกต่างกับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศอย่างไร DR เป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้น หรือ ETF จึงเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนในการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศได้สะดวก เพราะ DR ซื้อขายเป็นเงินบาทในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบัญชีซื้อขายหุ้นในปัจจุบัน สินทรัพย์ที่ DR อ้างอิงก็ผ่านการคัดกรองมาจากผู้ออก DR เป็นอย่างดี และผู้ลงทุนที่ซื้อขาย DR ก็สามารถสอบถามข้อมูลได้จากโบรกเกอร์หรือจากผู้ออกเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้การลงทุนใน DR ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เนื่องจาก DR สามารถซื้อขายขั้นต่ำได้เพียงจำนวน 1 DR ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศโดยตรง ผู้ลงทุนก็อาจดำเนินการได้เช่นกัน หากแต่คงต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ว่าจะลงทุนในตลาดใด หลักทรัพย์ใด รวมทั้งต้องเข้าใจเรื่องภาษีจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ การนำเงินเข้าออก ค่าธรรมเนียมต่างๆ และหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อขาย ดังนั้น การเปิดบัญชีซื้อขายโดยตรงจึงอาจเหมาะกับผู้ที่มีความเข้าใจและศึกษาข้อมูลมาอย่างดี รวมทั้งอาจต้องมีเงินลงทุนมากพอในระดับหนึ่ง
ประเด็นที่สอง กลไกของ DR เป็นอย่างไร DR มีหลักทรัพย์อ้างอิงอยู่จริงหรือไม่ ในการออก DR นั้น กลไกในการทำงานก็คือผู้ออก DR หรือ Issuer จะซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงจากต่างประเทศมาฝากไว้กับผู้รับฝากสินทรัพย์ และออก DR ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์นั้นมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงมีการให้ผลประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ถือหุ้น เช่น เงินปันผล หุ้นปันผล หรือ หุ้นเพิ่มทุน
Issuer ก็จะทำการแปลงสิทธิประโยชน์เหล่านั้นและส่งมอบให้กับผู้ที่ถือ DR ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ถือ DR จึงได้สิทธิประโยชน์ไม่ต่างกับการไปถือหุ้นอ้างอิงโดยตรง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวก็มีต้นทุนสำหรับผู้ออกในการรับและส่งมอบสิทธิด้วย รวมถึงกระบวนการส่งต่อสิทธิประโยชน์ก็อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อกำหนดสิทธิ์ก่อนการเริ่มลงทุน
ประเด็นที่สาม ทำไมผู้ลงทุนใน DR จึงสามารถใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์นั้นโดยตรง ในประเด็นนี้เป็นจุดเด่นหนึ่งของ DR โดยขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ออก DR ซึ่งโดยทั่วไปผู้ออกมักทำให้ขนาดของ DR ที่จะซื้อขายใช้เงินลงทุนไม่มาก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีเงินทุนไม่มากเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่าง DR ของ หุ้น Alibaba ในตลาดฮ่องกงที่ออกโดยธนาคารกรุงไทย (BABA80 DR)ไปไม่นานนี้นั้น
สมมติว่าราคาต่อหุ้นของ Alibaba อยู่ที่ประมาณ 440 บาท และมีขนาดซื้อขายขั้นต่ำที่ 100 หุ้น หากต้องการซื้อขายโดยตรงจะต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำประมาณ 44,000 บาท ดังนั้น ผู้ออก DR จึงทำการออกแบบ DR ให้มีขนาดเล็กลง โดยกำหนดสัดส่วนให้ 1 DR มีขนาดเท่ากับหุ้น Alibaba 0.01 หุ้น ซึ่งหากมองง่ายๆ จะพบว่าราคา DR ที่ซื้อขาย 1 หน่วยจะถูกกว่าราคาหุ้นอ้างอิง 100 เท่า นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถลงทุนใน DR โดยเริ่มต้นเพียง 1 หน่วยเท่านั้น จึงทำให้ผู้สนใจสามารถลงทุนใน DR ได้ด้วยเงินลงทุนไม่มาก
ประเด็นที่ 4 ราคา DR บนกระดานมีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเป็นราคาเสนอซื้อขายดังกล่าว ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่าตามหลักการราคาซื้อขายของ DR ควรสะท้อนมาจากปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1. ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงในตลาดต่างประเทศ 2. อัตราแลกเปลี่ยน และ 3. สัดส่วน DR ต่อหุ้นอ้างอิง ตัวอย่างเช่น สมมติหุ้น Alibaba ราคา 106 ฮ่องกงดอลลาร์ต่อหุ้น (HKD) อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 4.15 บาทต่อฮ่องกงดอลลาร์ และอัตราอ้างอิงเท่ากับ 1 DR ต่อ 0.01 หุ้น Alibaba ดังนั้น ราคาทฤษฎีของ BABA80 DR ที่เสนอขายในตลาดไทยจะเท่ากับ 106 x 4.15 x 0.01 หรือประมาณ 4.40 บาท
อย่างไรก็ตามราคาซื้อขายจริงบนกระดานอาจมีความแตกต่างจากราคาทฤษฎีเนื่องจาก demand-supply และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของผู้ออก DR เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย ค่าธรรมเนียมของผู้กำกับดูแลอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีผู้ลงทุนจะไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ราคาต้นทุนที่ซื้อขายก็จะสะท้อนทั้งราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อขายและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆเช่นกัน ยกเว้นในส่วนของอัตราอ้างอิงของ DR เนื่องจากจะต้องซื้อขายเต็มจำนวนขั้นต่ำตามที่ตลาดต่างประเทศกำหนด
ประเด็นสุดท้าย DR จะมีกลไกในด้านสภาพคล่องอย่างไร ผู้ออก DR จะจัดให้มี Market Makers (MM) ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง โดยวางราคาเสนอซื้อเสนอขาย (Bid-Off) ในกระดานให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของหุ้นอ้างอิงในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าสามารถซื้อขายได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เหมาะสม (บางกรณีผู้ออกเป็น Market Maker เอง) ซึ่งโดยปกติแล้ว MM จะสร้างสภาพคล่องให้ครอบคลุมช่วงเวลาที่ตลาดไทยและต่างประเทศเปิดพร้อมกันให้มากที่สุด เช่น ตลาดไทยและตลาดฮ่องกงเปิดพร้อมกันในช่วงเวลา 10:00-11:00 และ 12:00-15:00 MM ก็จะปฎิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 80% ของช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับช่วงที่ตลาดต่างประเทศหยุดทำการ เช่น ช่วงพักกลางวัน MM อาจไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ และในกรณีที่ตลาดต่างประเทศปิดทำการทั้งวัน เช่น ช่วงตรุษจีนหรือคริสมาสต์ MM อาจต้องทำหน้าที่ด้วย inventory ที่มี หรือหยุดปฎิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรซื้อขายด้วยความระมัดระวังในช่วงวันหยุดทำการของตลาดต่างประเทศ หรือช่วงก่อนวันหยุดทำการของตลาดไทยที่ไม่ตรงกับตลาดต่างประเทศ เช่น สงกรานต์ เป็นต้น
ประเด็นที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนใน DR ควรทำความเข้าใจก่อนเริ่มลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลได้เพิ่มเติมจาก www.set.or.th หรือ Website ของผู้ออก DR