“การเดินทางของ บัตรประชาชน”

“การเดินทางของ บัตรประชาชน”

บัตรประชาชนของคนไทย ได้รับการพัฒนามาตามลำดับ รูปแบบ จะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่ได้รับคำชื่นชมมานานก็คือ การขอบัตรฯ หรือต่ออายุบัตรฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสะดวกสบายมาก

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการให้บริการประชาชน ที่ทำได้คุณภาพสูง และคุ้มค่ากับภาษีที่เราจ่ายไป นอกจากบัตรประชาชนแล้ว ยังมีบริการอื่นเช่น การออกและต่อหนังสือเดินทาง หรือใบขับขี่ ฯลฯ ซึ่งได้รับความชื่นชมเช่นกัน

ส่วนบริการที่ประชาชนยังต้อง “จ่ายใต้โต๊ะ” นั้น คนที่เป็นใหญ่เป็นโตในหน่วยงานนั้นๆ น่าจะคิดสักหน่อยนะครับว่า มีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโตทั้งที ไม่ทำอะไรให้ประชาชนมีความทรงจำที่ดี หรือสร้างเกียรติประวัติให้แก่ชีวิตตนเอง บ้างหรือครับ...

วกกลับมา เรื่องการเดินทางของ บัตรประชาชนครับ ผมตั้งคำถามเล่นๆว่าบัตรประชาชนที่เราพกในกระเป๋าของเรานั้น แต่ละวันมันเดินทางไปที่ไหนบ้าง แวะพักตรงไหนบ้าง และน่าจะมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง อย่างไรบ้าง

เดินทางไปที่ไหนบ้าง ตรงนี้ตอบง่ายมากครับ บัตรประชาชนก็ไปที่ไหนๆ ที่เราไปนั่นแหละ ยกเว้นบางวัน เราอาจเอาออกไปจากกระเป๋า แล้วลืมเก็บกลับคืน วางไว้บนโต๊ะที่บ้าน แบบนี้ก็จากกันวันนึง แต่ก็ไม่เป็นไรนะ

 

จุดที่บัตรประชาชน “แวะพัก” นอกบ้านมากกว่า ที่ผมอยากกล่าวถึง

เช่นวันดีคืนดี ถ้าเราต้องออกจากบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อไปหาเพื่อน หรือพบนักธุรกิจที่เราติดต่อด้วย และต้องเข้าไปในอาคาร ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง ก็จะต้องมอบบัตรประชาชนของเรา ให้กับเจ้าหน้าที่ หรือ รภป. เก็บรักษาไว้ จนกว่าเราจะเสร็จธุระ แล้วขอบัตรคืน

เมื่อเรารู้สึกคิดถึงเพื่อน หรือแวะไปเยี่ยมญาติ ขับรถแวะไปหาที่บ้านพักในหมู่บ้าน เราก็ต้องมอบบัตรประชาชน ให้ไว้กับ รปภ. ของหมู่บ้านอีกเหมือนกัน

บางช่วงเวลา รัฐบาลมีรายการพิเศษ เช่น “ช้อปดี มีคืน” ถ้าหากเราอยากได้คืนภาษี เราก็ต้องมอบบัตรประชาชน ให้พนักงานของ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ เพื่อให้นำไปกรอกแบบฟอร์ม ออกใบกำกับภาษี มอบให้เราไว้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี

ยามเจ็บป่วย ถ้าไปโรงพยาบาลที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน แน่นอนว่าต้องใช้บัตรประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องปกติและจำเป็นมาก เพราะเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ป่วย และยังโยงใยไปถึงบริษัทประกันสุขภาพ อีกด้วย ฯลฯ

สรุปคือ ชีวิตประจำวันของเรานั้น ระบบต่างๆในสังคมถูกออกแบบไว้ ทำให้บัตรประชาชนถูกนำไปใช้ทุกหนทุกแห่ง และมี “จุดแวะพัก” บ่อยครั้งมาก แม้กระทั่งการสมัครเป็นสมาชิกของธุรกิจต่างๆ เพื่อได้รับสิทธิในการลดราคา ก็ต้องให้ข้อมูลทุกอย่างในบัตรประชาชน

ประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือ เมื่อข้อมูลในบัตรประชาชนของเรา กระจายออกไปมากมายขนาดนี้ แล้วเราจะดูแลเรื่อง “บัตรประชาชน กับ ความปลอดภัยทางการเงินส่วนบุคคล” ได้อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กำลังระบาดอย่างหนัก เหมือนกับจะประกาศแข่งขันกับโอมิครอน ว่าใครจะระบาดเก่งกว่ากัน อยู่ในขณะนี้

สถาบันการเงินทุกแห่ง เน้นความปลอดภัยอย่างสูงสุดอยู่แล้ว แต่เราก็ยังอ่านข่าวแก๊งมิจฉาชีพ สามารถเปิดบัญชี เพื่อนำไปปฏิบัติการต่อเนื่อง หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน อยู่เสมอๆ โดยมีข้อมูลจากบัตรประชาชน เป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้ในธุรกรรมเหล่านี้

บางคนก็บอกว่า ถ้าได้บัตรประชาชนไปอย่างเดียว มิจฉาชีพทำอะไรได้ไม่มากนักหรอก แต่มิจฉาชีพก็ยังพยายามหาข้อมูลนี้ให้ได้ เพราะในระบบปัจจุบัน ข้อมูลจากบัตรประชาชน ยังมีบทบาทเกี่ยวข้อง ในการทำธุรกรรมทางการเงินอยู่ครับ

ส่วนข้อมูลอื่นๆที่ต้องใช้ประกอบการทุจริต พวกมิจฉาชีพ ก็คงไปหาวิธีต่อยอดเอา

เมื่อการใช้ชีวิตประจำวัน บัตรประชาชนของเรา ต้องออกจากกระเป๋าเรา ไปพักผ่อนชั่วคราว ณ จุดต่างๆ บ่อยครั้ง และจุดเหล่านั้น อาจมีเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่สุจริต สามารถนำข้อมูลทุกอย่างบนบัตรฯของเรา ไปใช้ประโยชน์ต่อได้

ทั้ง ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด ส่วนสูง ฯลฯ แม้กระทั่งรหัสหลังบัตร ที่ควรเป็นความลับ ก็อยู่ที่นั่นทั้งหมด 

สมัยนี้ คนไม่สุจริต ไม่ต้องลำบากจดข้อมูลหรอกครับ บัตรของเราแวะพักกับเขาแป๊บเดียว เขาใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพแกร๊กเดียว ก็ได้ไปหมดทุกอย่างแล้ว ส่วนจะนำไปทำอะไรต่อเพื่อประโยชน์ส่วนตน ก็ว่าไป

แน่นอนว่า สถาบันการเงินมีระบบ ความปลอดภัยไซเบอร์ ที่สูงมากๆ และยังมีกระบวนอื่นๆ เช่นให้เราสร้างรหัสส่วนตัวของเราเองได้ นอกจากนั้น เวลาเราโทรศัพท์ไปใช้บริการ เจ้าหน้าที่ก็ระมัดระวังมากๆ นอกจากสอบถามข้อมูลบัตรประชาชนแล้ว ยังถามข้อมูลอื่นประกอบด้วย 

เช่นถามว่า มีบัตรเครดิตที่ธนาคารกี่ใบ ถอนเงินฝากออมทรัพย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไร วงเงินบัตรเครดิตมีเท่าใด เป็นต้น ซึ่งตรงนี้มิจฉาชีพอาจจะตอบได้ยากขึ้น แต่ก็คงจับทางถูกหมด ว่าจะถูกถามอะไร

คงเหมือนตำรวจกับคนร้าย คนร้ายมักหาวิธีใหม่ๆ ในการหนีตำรวจได้เสมอ

ที่ผมเขียนเรื่องนี้ ก็เพียงอยากจะตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาหรือยัง ที่ผู้มีหน้าที่ในเรื่องความปลอดภัยทางการเงินของประชาชน จะหยิบยกเรื่องบัตรประชาชน มาทบทวนว่าควรมีมาตรการอะไรใหม่ๆมาใช้หรือไม่”

ผมเคยนำคำถามนี้ ไปคุยกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งท่านก็เห็นประเด็น และบอกผมว่า เห็นด้วยที่เราต้องเริ่มคิดกันในระดับประเทศแล้ว ว่าเรื่องบัตรประชาชน และความปลอดภัยทางการเงินนี้ ควรจะคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างไร หรือไม่

ผมไม่มีความรอบรู้เรื่องนี้ครับ ผมแค่ตั้งคำถามเท่านั้น

ใครรู้ช่วยตอบด้วยครับ