วัฒนธรรม “เหลือดีกว่าคืน” ปัจจัยแห่ง "ขยะอาหาร"
อาหารเป็นหนึ่งใน “ปัจจัย 4” ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตสำหรับมนุษย์ แต่ทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีมีอาหารจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปให้กลายเป็น “ขยะอาหาร (food waste)” จำนวนมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เหลือทิ้งจากมื้ออาหารในแต่ละวันจากครัวเรือน โรงอาหาร ร้านอาหาร ภัตตาคาร งานเลี้ยงต่าง ๆ หรือถูกกำจัดออกจากกระบวนการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งและการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ก่อนถึงมือผู้บริโภค
ในแต่ละปี "ขยะอาหาร" เหล่านี้มีปริมาณสูงถึง 30% (1.3 พันล้านตันต่อปี) หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลก
นิยาม Food Loss กับ Food Waste
ตามคำจำกัดความขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การสูญเสียอาหารมี 2 ลักษณะคือ Food Loss และ Food Waste
โดย Food Loss เป็นการสูญเสียในขั้นตอนก่อนได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารขั้นสุดท้าย อาหารซึ่งเสียหายระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร นับตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงตลาด อาจจะเป็นปัญหาจากการเก็บเกี่ยว โรคแมลง การเก็บรักษา การขนส่ง บางครั้งปัญหา ก็อาจจะมาจากการโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด ปัญหาด้านราคา แม้แต่ปัญหาทางกฎหมาย
Food Waste คือ การที่อาหารถูกทิ้งให้เสียหรือหมดอายุ ทิ้งเพราะบริโภคไม่หมด ทิ้งจากการเข้าใจผิดว่าไม่สามารถบริโภคได้ เช่น การคัดทิ้งผักผลไม้ที่รูปร่างหน้าตาไม่สวย (Ugly Food) ไม่เป็นที่นิยมของตลาด หรือตรงตามความต้องการของผู้บริโภค การทิ้งอาหารที่ใกล้ถึงวัน Best-before date ทั้งที่ยังพอกินได้ แต่คุณภาพหรือรสสัมผัสอาจจะด้อยลง หรือ พฤติกรรมการรับประทานเหลือ อาหารในครัวเรือนและร้านอาหาร เป็นผลมาจากการกินกันอย่างฟุ่มเฟือยจนเหลือทิ้ง เป็นต้น
สถานการณ์ Food Loss กับ Food Waste ในไทย
สำหรับประเทศไทย ค่านิยม “เหลือ…ดีกว่าขาด” ทำให้อาหารส่วนเกินจำนวนมาก กลายเป็นขยะอาหาร แล้วส่วนใหญ่ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แต่ละวันคนไทยทิ้งขยะอาหารมากถึง 300-500 ตัน คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะมูลฝอยทั้งหมด
หากภาคธุรกิจไทยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถลดการสูญเสียอาหารลงได้ จะเกิดประโยชน์หลายประการ ประการแรก ลดการสูญเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประการที่สอง หากเปลี่ยนจากการทิ้ง ไปสู่การบริจาคให้แก่ผู้ขาดแคลน ก็ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารคุณภาพดีมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดรายจ่ายบางส่วนลงได้ ประการที่สาม ยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศความเห็นอกเห็นใจ หรือการเกื้อกูลในสังคม ระหว่างภาคธุรกิจกับผู้มีรายได้น้อย
ลดปริมาณขยะอาหารได้ด้วยหลักการ 3R
การช่วยกันลดปริมาณขยะอาหารจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยอาศัยหลักการ 3R ซึ่งประกอบด้วย Reduce, Reuse, Recycle
Reduce ได้แก่ การลดปริมาณอาหาร การจัดทำรายการซื้ออาหารเพื่อซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ไม่กักตุน เตรียมอาหารเท่าที่ปริมาณที่จะรับประทาน โดยเฉพาะในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งมักจะมีการเตรียมอาหารเผื่อเป็นจำนวนมาก ควรลดปริมาณลงและเตรียมเท่าที่จำเป็น
Reuse ได้แก่ การนำวัตถุดิบที่เหลือมาทำเป็นอาหารเมนูใหม่ การนำอาหารที่รับประทานเหลือจากร้านหรือภัตตาคารเพื่อนำไปรับประทานต่อสำหรับมื้อถัดไป การนำอาหารที่เหลือไปเป็นอาหารสัตว์ ร้านค้าหรือร้านอาหารต่าง ๆ อาจจะนำอาหารที่เหลือซึ่งยังอยู่ในสภาพที่ดีจำหน่ายลดราคา นำไปบริจาคหรือมอบให้แก่พนักงานไปบริโภค
Recycle ได้แก่ การนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยหมักหรืออาหารสัตว์ การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel)
หากทุกคนสามารถทำได้ตามหลักการข้างต้นก็จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดภาวะโลกร้อนและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม
การช่วยกันลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน