การก่อสร้างสีเขียว (ภาคต้น)
ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา เราได้บอกเล่าเรื่องราวถึงเป้าหมายการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ควรมุ่งเน้นการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
โดยยกตัวอย่างแนวคิด “6 Green” ที่เริ่มตั้งแต่ 1.Green Enterprise 2.Green Fiancial Management 3.Green Design Concept 4.Green Marketing Management 5.Green Construction Process 6.Green Community Management
ในครั้งนี้ผมจะกล่าวถึง Green Construction Process ซึ่งเป็นกลยุทธ์ลำดับที่ 5 ในการพัฒนาโครงการ ส่วนกลยุทธ์สุดท้ายคือ Green Community Management นั้น ผมจะเชิญคุณสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ LPP เป็นผู้อธิบายถึงรายละเอียดในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากที่พักอาศัยในแต่ละชุมชน และเป็นการดูแลลูกค้าตลอดจนทุกชีวิตที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งมอบ “ความน่าอยู่” ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เมื่อกล่าวถึงการก่อสร้าง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการก่อสร้างเป็นกระบวนการที่รบกวนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในโครงการเอง และยังส่งผลกระทบต่อชุมชนและเพื่อนบ้านข้างเคียงรวมถึงสภาพแวดล้อมของเมืองที่มากที่สุดประการหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงควรตระหนักและค้นหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ได้มากที่สุด
ทั้งเพื่อให้รบกวนระบบนิเวศให้น้อยที่สุด ให้ใช้งานหรือดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และลดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่นการนำกลับมาใช้ใหม่หรือขจัดของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงควรพัฒนากระบวนการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
โดยทั่วไป ผู้ประกอบการมักวางกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Conceptual Framework) และการบริหารก่อสร้างไว้ที่ประเด็นหลัก 3 ประการ เรียงตามปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การควบคุมต้นทุน (Cost) การลดระยะเวลา (Time) และ การกำหนดและรักษามาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Quality)
แต่ประเด็นทั้ง 3 นั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในโครงการในมิติทางด้านการเงิน (Financial Perspective) เป็นหลัก
สำหรับการบริหารโครงการเพื่อความยั่งยืนที่เป็นภาพสะท้อนความเคารพและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ นั้น ควรผนวกรวมประเด็นเชิงกลยุทธ์อีก 3 ประการเพื่อความยั่งยืน คือ ความรับผิดชอบในผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม (Environment) การดูแลความปลอดภัยในกระบวนการก่อสร้าง (Safety) และ การเคารพและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (People) ร่วมในกรอบแนวคิดกลยุทธ์ดังกล่าว
อีกทั้งยังควรเรียงความสำคัญของประเด็นกลยุทธ์บริหารกระบวนการก่อสร้างเสียใหม่โดยจำแนกตามมุมมองและคุณค่าที่จะส่งมอบให้ลูกค้า คู่ค้า แรงงาน ชุมชนข้างเคียง สิ่งแวดล้อม และ สังคมทุกภาคส่วน เป็น Q C S E S +P
กล่าวโดยย่อ คือ คุณภาพ (Quality) ต้นทุน (Cost) ระยะเวลาในการก่อร้าง (Speed) สิ่งแวดล้อม (Environment) ความปลอดภัย (Safety) และ ผู้มีส่วนได้เสีย (+P : People) เพราะ +P (People) นั้น หมายถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ทั้งหมด ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในภาคต้นนี้ ผมขอแจกแจงแนวคิดและรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบเชิงกลยุทธ์ 3 ประการแรก คือ Q C และ S เสียก่อน แล้วภาคจบเรามาเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่อง E S และ +P กันนะครับ
+ Quality of Product (Q) คือการบริหารโครงการก่อสร้างที่คำนึงถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ทั้งที่เห็นและสัมผัสได้โดยตรง เช่น วัสดุกรุผิว สุขภัณฑ์ ประตูหน้าต่าง และที่ไม่สามารถเห็นได้โดยตรง เช่น สายไฟ ท่อน้ำ เหล็กเสริมในเสาและคาน เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้าและตรงกับที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ คุณภาพของผลิตภัณฑ์นี้ควรต้องเน้นทั้งพื้นที่ส่วนกลางและบ้านหรือห้องชุดที่ส่งมอบให้กับลูกค้า นอกจากจะเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานก่อสร้างยังต้องมีระเบียบและได้มาตรฐานอีกด้วย เช่น การจัดวางวัสดุก่อสร้างอย่างเป็นระเบียบ ตลอดจนคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างในเชิงการบำรุงรักษาอันส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของลูกค้าและเจ้าของร่วมในระยะยาว รวมถึงเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
+ Cost Control and Management (C) คือการควบคุมและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพให้รัดกุมอยู่ในระดับที่ประเมินไว้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม เช่น ค่าวัสดุ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและดำเนินงาน โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ซึ่งมีตัวอย่างหนึ่งที่เป็นการลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพได้สูง คือ การประยุกต์ใช้กระดาษลังไข่ในการดูดซับเสียงจากการก่อสร้างเนื่องจากโครงการอยู่ติดกับโรงเรียน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่อาศัยการคิดนอกกรอบและคิดเทียบเคียง (Think outside the Box หรือ Lateral Thinking) โดยประยุกต์ใช้การสังเกตุ ประสบการณ์ และการทดลอง สำหรับในประเด็นเรื่องการควบคุมและบริหารต้นทุนนี้ผู้ประกอบการควรระมัดระวังไม่เดินทางลัดในการควบคุมต้นทุนโดยการตัดคุณค่าของผลิตภัณฑ์ออก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบแล้ว ยังส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการซ่อมแซมและบำรุงรักษาในระยะยาว และเสี่ยงต่อความเสียหายในมิติคุณค่าของแบรนด์ของผู้ประกอบการด้วย
+ Speed of Delivery (S) เมื่อจ่ายเงินซื้อบ้านแล้ว ลูกค้าคงสุขใจที่ได้เห็นโครงการเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในกลยุทธ์เชิงกระบวนการในองค์ประกอบนี้มิได้เน้นการก่อสร้างให้เสร็จเร็วที่สุด แต่เน้นการควบคุมระยะเวลาและความเร็วในการก่อสร้างและกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงสภาพแวดล้อมของตลาด และลักษณะการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการควรรักษาคำมั่นสัญญาในการส่งมอบตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อต้นทุนการก่อสร้างด้วย อีกทั้งยังควรพิจารณาลดความเสี่ยงของลูกค้าและคำนึงถึงผลกระทบของลูกค้าจากการก่อสร้างในการส่งมอบในกรณีที่พัฒนาโครงการที่มีหลายเฟส ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญการและความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกส่วนงาน ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพที่ดีต่อการอยู่อาศัยของลูกค้า
จากการนำเสนอกลยุทธ์ในการบริหารกระบวนการก่อสร้างโครงการใน 3 องค์ประกอบข้างต้น จะเห็นว่าเป็นรายละเอียดที่มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลในการบริหารผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในการส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าเป็นหลัก
เรามาติดตามการสร้างความสมดุลในการบริหารผลกระทบในองค์ประกอบอื่นอีก 3 ประการในด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผู้มีส่วนได้เสียที่เหลือในครั้งต่อไปนะครับ