6 วิธีทำลายความเชื่อถือ

6 วิธีทำลายความเชื่อถือ

ภาพสะท้อนจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกความน่าเชื่อถือของเราได้ชัดเจนที่สุด

ผมเคยแนะนำถึงเคล็ดลับสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งประกอบไปด้วยการหาผลประโยชน์ร่วมกัน เน้นสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว การทุ่มเททำอย่างตั้งใจ การคิดบวก การสื่อสาร และขอเพิ่มอีกสักข้อคือการใส่ใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นซึ่งก็คือเรื่องของ EQ หรือความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์นั่นเอง

นอกเหนือจากการสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว ในมุมตรงกันข้ามก็คือการทำลายความน่าเชื่อถือก็มีองค์ประกอบสำคัญที่เราควรเรียนรู้เอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยง และไม่เผลอทำสิ่งต่างๆ ที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของเราในระยะยาว

เริ่มจากข้อแรกคือ การพูดสวนทางกับการกระทำ เช่นพูดอยู่เสมอว่าต้องเป็นคนดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ในชีวิตจริงกลับไม่เคยให้ความช่วยเหลือใครเลย ไม่เคยแสดงความใจกว้าง และไม่มีน้ำใจให้คนรอบข้าง แบบนี้ทำให้สิ่งที่พูดดูไม่มีน้ำหนักและเกิดคำถามขึ้นตามมาทันที

ข้อสองคือ การรับปากรับคำแบบขอไปที อาจรับด้วยความเกรงใจ หรือรับคำสัญญาเพื่อตัดรำคาญ แล้วปฏิเสธในภายหลังด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา ทำให้คนรอบข้างไม่มั่นใจในคำพูดเพราะไม่รู้ว่าตั้งใจรับปากในเรื่องนั้นๆ จริงหรือไม่

ข้อสามคือ การปัดความรับผิดชอบ ซึ่งเราจะพบเห็นคนแบบนี้ได้ง่ายเพราะมักจะรับแต่ความดีความชอบ แต่ไม่สนใจรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอก เป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ

นั่นคือทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นปัญหาทั้งหมด ยกเว้นตัวเองที่ทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งคนแบบนี้มักลงเอยด้วยการไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะกลัวความผิดพลาดและเอาแต่กล่าวโทษคนอื่นซึ่งนอกจากทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแล้วยังทำให้บรรยากาศในการทำงานแย่ลงด้วย

ข้อสี่คือ การละเลยต่อสังคมส่วนรวม คือไม่ใส่ใจผู้คนรอบข้างจนทำให้ขาดความมีส่วนร่วมกับผู้อื่น แม้จะเป็นคนเก่งที่ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม แต่หากไม่ได้แรงสนับสนุนจากคนรอบข้างก็อาจทำให้ขาดพลังที่ได้จากคนอื่น และไม่ได้การยอมรับจนส่งผลต่อความเชื่อถือในระยะยาว

การเปิดรับให้คนอื่นมีส่วนร่วมกับงานที่เราทำ ย่อมทำให้ได้มุมมองที่หลากหลายและได้พลังจากคนทั้งองค์กรในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เมื่องานสำเร็จก็ย่อมได้ความชื่นชมจากคนรอบข้าง เป็นทั้งการสร้างความมีส่วนร่วมและสร้างความน่าเชื่อถือไปพร้อมๆ กัน

ข้อห้า ทำงานโดยหวาดระแวงจนเกินไป เพราะหลายครั้งที่เราทำงานกับคนที่หวาดวิตกในทุกเรื่องทุกประเด็นเช่นจะถูกเอาเปรียบไหม มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเปล่า กลัวถูกล่อลวง ฯลฯ หากย้ำคิดย้ำทำจนมากเกินไปจะทำให้คนรอบข้างหมดความเชื่อถือไปเรื่อยๆ

ข้อที่หก ภาพสะท้อนจากคนรอบข้างที่เป็นด้านลบ แม้ว่าเราจะเชื่อมั่นว่าเราเป็นคนเก่งคนดี ไม่เคยมีปัญหาในการทำงาน แต่หากมีคนไปสอบถามคนอื่นที่เคยทำงานร่วมกับเรา แล้ว 9 ใน 10 คนที่ทำงานร่วมกันนั้น บอกว่าเรามีปัญหาในการทำงาน นั่นหมายความว่าเรามีปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือแน่นอนแล้ว

เพราะภาพสะท้อนจากผู้อื่นย่อมเป็นสิ่งที่บ่งบอกความน่าเชื่อถือของเราได้อย่างชัดเจนที่สุด การที่คนส่วนมากมองเห็นแต่ปัญหาในการทำงานร่วมกับเราจึงเป็นการลดความน่าเชื่อถือในตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงกันข้ามกับคนที่ผู้อื่นชื่นชมก็ย่อมได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้างมากกว่าเสมอ

การได้รับความเชื่อถือ ย่อมหมายถึงใบเบิกทางในการทำงานใหญ่ซึ่งต้องอาศัยพลังจากคนทั้งองค์กรร่วมกัน รวมไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในองค์กรหรือแม้กระทั่งในสังคมซึ่งคนที่ได้รับความเชื่อถือย่อมมีโอกาสทำสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า