ความสำคัญในการวางแผนมรดกและการทำพินัยกรรม
การวางแผนจัดการมรดกและทำพินัยกรรมอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางคน แต่ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นที่ต้องรอให้ถึงวันที่เรามีอายุมากค่อยคิดจัดการ
ในทางกฎหมาย “มรดก” คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมถึงสิทธิในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เรียกรวมกันว่า “กองมรดกของผู้ตาย” หากเสียชีวิตหนี้สินของผู้ตายก็ถือเป็นมรดกด้วยและถือเป็นหน้าที่ของทายาทในการชำระหนี้นั้น
เพียงแต่ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า 3 ล้านบาท แต่ผู้ตายมีหนี้สินอยู่ 4 ล้านบาท ทายาทอาจสละสิทธิไม่รับมรดกทั้งหมด หรือจะรับทรัพย์มรดกและมาชำระหนี้แต่จะรับภาระหนี้ไม่เกินกว่าทรัพย์ที่รับมรดกมา ทำให้กรณีนี้ทายาทไม่ต้องรับผิดในหนี้สินมรดกส่วนเกินทรัพย์สินมรดก
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเมื่อเสียชีวิต ทรัพย์มรดกทั้งหมดจะต้องตกทอดไปสู่ทายาทที่เป็นลูกหลานของเรา แต่จริงๆแล้ว ในทางกฎหมายมีการจัดลำดับทายาทที่มีสิทธิรับมรดก เป็น 2 ประเภท คือ
1. ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม ซึ่งอาจเป็นลูกหลานหรือญาติหรืออาจเป็นคนอื่นก็ได้
2. ทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้) ทายาทแต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังนี้
(1) ผู้สืบสันดาน (รวมถึงคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่)
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
ขั้นตอนในการวางแผนมรดกและจัดทำพินัยกรรม
· รวบรวมรายการทรัพย์สินทั้งหมด หรือจัดทำทะเบียนรายการทรัพย์สินขึ้นมาก็ได้
· พิจารณาทรัพย์สินและภาระติดพันที่อาจมี รวมถึงประเด็นในเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรส กรณีสินสมรสที่อยู่ในชื่อของเจ้ามรดก เช่น มีเงินฝากชื่อบัญชีเป็นชื่อของคู่สมรส เจ้ามรดกจะมีสิทธิในเงินฝากเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งถือเป็นของคู่สมรส หรือกรณีมีหุ้นในบริษัท เจ้ามรดกถือไว้ 10% และอีก 40% เป็นของคู่สมรส จะต้องนำหุ้นมารวมกันแล้วแบ่งตามหลักสินสมรสคนละครึ่งเช่น 25%:25% ก่อน ถึงจะเป็นกองมรดกที่สามารถตกทอดแก่ทายาทต่อไปได้
· จัดทำพินัยกรรม โดยทั่วไปอาจจัดทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับคือ เขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ลงวัน เดือน ปีที่ทำ และต้องลงลายมือชื่อผู้ทำด้วยจะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ หรือพินัยกรรมแบบธรรมดาเป็นพินัยกรรมที่สามารถพิมพ์ขึ้นมาได้ ผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คนและพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมด้วย
ข้อคิดก่อนจัดทำพินัยกรรม
· การเขียนพินัยกรรมไม่ใช่เขียนแค่ว่าจะยกอะไรให้ใคร แต่ควรพิจารณาให้รอบด้าน เช่น หากมีหนี้สินจะให้นำทรัพย์สินส่วนใดไปชำระหนี้ หรือในคู่สมรสที่มีการหย่าร้าง คู่สมรสของเจ้ามรดกนั้นมีสิทธิ์ดูแลทรัพย์สินของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากไม่ประสงค์ให้เป็นแบบนั้นก็ควรต้องระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยว่าต้องการให้ใครเป็นผู้เข้ามาจัดการดูแลทรัพย์สินดังกล่าวแทน
· ควรมีการแต่งตั้งว่าต้องการให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก เพราะหากไม่ระบุผู้จัดการมรดกในพินัยกรรม ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะต้องมาร่วมมือเพื่อตกลงกันและยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งอาจค่อนข้างใช้เวลา และหากกำลังอยู่ในช่วงเวลาแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินต่างๆ จะต้องถูก freeze ไว้จนกระทั่งการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้วเสร็จจึงจะสามารถนำออกมาได้ อาจทำให้เกิดปัญหาในกรณีมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทรัพย์สินนั้นๆ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ
· กรณีมีธุรกิจครอบครัว หากต้องการให้ทรัพย์สินที่เป็นหุ้นของธุรกิจครอบครัวถูกส่งต่อให้กับทายาทสายตรงเท่านั้น ก็ควรระบุชื่อผู้รับหุ้นอย่างชัดเจนและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในพินัยกรรมไว้ด้วยเพราะหากไม่มีการระบุไว้ หากเวลาผ่านไปและพินัยกรรมไม่ได้มีการปรับปรุงสม่ำเสมอหรือเขียนไว้นานแล้ว อาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้การแบ่งหุ้นไม่สามารถปฏิบัติได้และหุ้นอาจตกทอดไปสู่ทายาทท่านอื่นที่ธุรกิจครอบครัวไม่ได้ต้องการเช่นนั้น
ในการจัดการมรดกนั้น จึงมีข้อสรุปว่าพินัยกรรมมีความสำคัญต่อการวางแผนอย่างมาก เพราะพินัยกรรมสามารถกำหนดผู้จะได้รับทรัพย์มรดกได้อย่างชัดเจน และกำหนดผู้จัดการมรดกในพินัยกรรมได้ นอกจากนี้หากจะกำหนดเงื่อนไขการรับทรัพย์มรดกเพื่อให้ทายาทปฏิบัติก่อนจะได้รับทรัพย์มรดกก็สามารถทำได้ การร่างพินัยกรรมจึงมีทั้งแบบลงรายละเอียดหรือใช้แบบฟอร์มทั่วไป แต่พินัยกรรมต้องเขียนแล้วอ่านชัดเจนไม่สับสน ดังนั้นหากต้องการให้พินัยกรรมมีรายละเอียดมากและชัดเจน อาจปรึกษาทนายความหรือศึกษาข้อมูลต่างๆเสียก่อนครับ