soft power ของไทย? ความหมาย ความจริงและความฝัน
เปิดประเด็นฮอตโซเชียล soft power ของไทย? ความหมาย ความจริงและความฝัน คืออะไรกันแน่หรือ?
กระแส ซอฟท์ พาวเวอร์ ของไทย (Thai Soft Power) ถูกพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เกิดขึ้น มาจากศิลปิน นักแสดง สินค้า แฟชั่น แหล่งท่องเที่ยว เทศกาล และอาหาร ถูกยกย่องหรือพูดถึงบนเวทีระดับโลก แต่มีหลายประเด็นที่น่าขบคิดและชวนอภิปรายอยู่ไม่น้อย
กรณี ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ ศิลปินแรปเปอร์สาว ของไทยที่ได้ร่วมงานเทศกาลดนตรีและศิลปะ (Coachella) ที่เมืองแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนจบการแสดงได้โชว์การกิน ข้าวเหนียวมะม่วง เมนูอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นกระแสความสนใจของสื่อโซเซียลทั้งชาวไทยและต่างชาติ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อเสนอ..ยุทธศาสตร์การนำ 'ภาพยนตร์' มาใช้ในมิติ Soft Power
-
ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ
วันนี้ (19 เม.ย. 2565) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก พร้อมแนะนำหน่วยงานรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุน ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคคลกรเบื้องหลังเพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
พร้อมชื่นชมความสำเร็จล่าสุดของศิลปินและเยาวชนไทยทุกแขนง รวมไปถึงทีมงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยทั้งภาพยนตร์และดนตรีที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมไทยสู่สากล ส่งเสริม Soft Power ของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
อย่างเช่น “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” และ “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” ศิลปินเกาหลี สัญชาติไทยที่มีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านผลงานของตนเอง รวมทั้งยังมีศิลปินนักดนตรีอิสระของไทยหลายคนที่เป็นที่ชื่นชมและได้รับความสนใจในต่างประเทศ เช่น วิภูริศ ศิริทิพย์ (Phum Viphurit) พาราไดส์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์ (Paradise Bangkok International Molam Band) วงหมอลำของไทย ที่ไปสร้างชื่อเสียงทำให้วัฒนธรรมและศิลปะด้านดนตรีของไทยได้รับความสนใจในต่างประเทศ
สอดคล้องกับนโยบายของนากรัฐมนตรี ที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
ด้วยเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นรากฐานที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม สะท้อนผ่านอาหารศิลปะ วัฒนธรรม บันเทิง เพลง ภาพยนตร์และสถานที่ท่องเที่ยว กลายเป็น Soft Power ไทยที่เป็นที่รู้จักและได้รับการชื่นชมจากคนทั่วโลก เมื่อผนวกกับพลังและศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ที่ประกอบด้วยศิลปินไทยที่มีความสามารถ ทีมงานบุคลากรเบื้องหลังที่มีทักษะและเชี่ยวชาญ และการสนับสนุนของภาครัฐ จะเป็นการสร้างโอกาสและช่องทางใหม่ๆผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และ Soft Power กลายเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
"ความสำเร็จไม่ว่าจะเป็น ลิซ่า แบมแบม หรือล่าสุดของศิลปินไทย นางสาวดนุภา คณาธีรกุล (มิลลิ) ศิลปินแรปเปอร์สาว.. เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นอีกหนึ่งศิลปิน เยาวชนไทย ได้ที่ช่วยส่งเสริม Soft Power ของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ทว่า คำว่า Soft Power นั้น ถูกตีความตามความเข้าใจพื้นฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น Soft Power น่าจะหมายความว่าอย่างไร ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านภาพยนตร์ในมิติความบันเทิงและความมั่นคง การส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง การส่งออกวัฒนธรรมไทย ระบบโลก อย่าง ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า soft power ไม่ใช่การสร้างความนิยม soft power ไม่ใช่การเผยแพร่เสน่ห์วัฒนธรรม แต่ทั้งความนิยมกับเสน่ห์วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ซึ่งหมายถึงอำนาจการโน้มน้าวแบบหนึ่ง soft power มุ่งการสร้างเครือข่ายเพื่อผลประโยชน์ขนาดใหญ่
จะเข้าใจคำนี้ ต้องย้อนกลับไปดูคำอธิบายของ Nye แต่ถ้าจะรู้เท่าทันคำนี้ ต้องคิดให้ไกลกว่า Nye แม้ Nye เสนอคำอธิบายก็จริง แต่ไม่ใช่คนที่หาวิธีสร้าง soft power ตรงกันข้าม soft power ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมานาน Nye เพียงเอ่ยมันในรูปทฤษฎีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ (หมายถึงสหรัฐฯ) กระทั่งคำ soft power เองก็เป็น soft power อย่างหนึ่ง ด้วยทำให้สังคมโลกเข้าใจผิดว่า มันคืออำนาจแห่งความสร้างสรรค์ ทั้งที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเมืองโลก รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เคยบอกว่า อย่าหลงทางกับคำว่า soft แต่ต้องสนใจคำว่า power เนื่องจากมันคือคำหลักเหมือนใน hard power ไม่ว่าจะ soft หรือ hard มันก็คือการทำให้อีกฝ่ายสมยอม
ยุคหลังสงครามเย็น soft power คือรูปแบบทางอำนาจที่ทำหน้าที่ขยายเครือข่ายการค้าแบบตลาดเสรี โดยมีศูนย์กลางความร่วมมือที่อเมริกาเหนือร่วมด้วยยุโรปและญี่ปุน ดังนั้น soft power กับโลกาภิวัตน์แยกขาดจากกันไม่ได้ อันแรกคือเหตุ อันหลังคือผล อยากรู้ว่า soft power ของแต่ละชาติคืออะไร ให้ไปอ่านแผนความมั่นคงกับแผนพัฒนา
"ท้ายที่สุด มองว่า สิ่งที่บ้านเราพยายามผลักดันคือการทูตความบันเทิง เพราะมันเข้าองค์ประกอบของการทูตความบันเทิงที่สุด ส่วนการทูตความบันเทิงถือเป็น soft power หรือไม่ขึ้นอยู่กับเรามีเป้าที่ใหญ่ขนาดนั้นหรือไม่ และมีกระบวนการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ชัดเจนหรือไม่ ที่แน่ ๆ soft power สัมพันธ์กับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความมั่นคงเสมอ.." ดร.ฐณยศ ระบุ (อ้างอิง เฟซบุ๊ค Thanayod Lopattananont, 2565)
กระนั้น ในทัศนะของผู้เขียนเอง เห็นด้วยกับอาจารย์ ดร.ฐณยศ กรณีความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการจัดสรรทรัพยากรที่มาในการผลักดัน "ไทย ซอฟท์ พาวเวอร์" บนเวทีโลก การใช้เสน่ห์ทางวัฒนธรรม เพื่อ 5 F เป็นสินค้าทางส่งออกสำคัญของไทย ต้องใช้อำนาจรัฐกำหนดแผนความมั่นคงกับแผนพัฒนาให้เป็นรูปธรรมและจริงจังลงมือทำติดตามงานอย่างต่อเนื่อง จึงจะเป็น soft power อย่างแท้จริง
ขณะที่ ช่วงที่ผ่านมา "ไทย ซอฟท์ พาวเวอร์" มีการพูดถึงในแง่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากฝ่ายการเมือง ซึ่งยังไม่เห็นรูปร่างเป็นชิ้นเป็นอันอย่างชัดเจน ส่วนกลไกภาครัฐระดับกระทรวงที่รับผิดชอบก็มีแผนงานเดิมดูเหมือนไม่พัฒนาอะไร ซึ่งการศึกษานั้น ตัวอย่าง การรุกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข) ผลักดัน "หนังเมืองแคน" มีความคืบหน้าต่อเนื่องในการทำให้ "ขอนแก่น" เป็นเมืองของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาที่น่าจะมีความหวังในการทำให้ "ไทย ซอฟท์ พาวเวอร์" เติบโต แต่การจะก้าวไปข้างหน้าได้ต่อเนื่อง ต้องอาศัยฝ่ายการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุน ซึ่งดูเหมือนไม่ง่ายแต่ลงมือจะเกิดดอกออกผลอย่างแน่นอน
เหนืออื่นใด อย่าเห็นเพียงเป็นแค่ "ปรากฎการณ์" แล้วอ้างว่าเป็นนโยบาย soft power เหมือนที่ผ่านๆ มา ต้องทำงานต่อเนื่อง ให้ประชาชนได้ประจักษ์ชัด ไม่ค้านสายตาจะชื่นชมยิ่ง
...
อ้างอิง
- "รัฐบาล" ชม "มิลลิ" หนุน Soft Power "ข้าวเหนียวมะม่วง" ตามนโยบาย "ประยุทธ์"
- เฟซบุ๊ก Thanayod Lopattananont
- เฟซบุ๊ก Khonkaenfilm