"วัฒนธรรมองค์กร" รากฐานสู่ความสำเร็จในยุค ESG
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) เป็นเรื่องความสำคัญต่อนักลงทุน ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ คนเหล่านี้เริ่มเรียกร้องให้บริษัทมีรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อโลกมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม รวมไปถึงการต่อต้านการทุจริต
หากถอดบทเรียนจากบริษัทชั้นนำ 10 แห่งจากทั่วโลก ได้แก่ Patagonia, Unilever, Natura &Co, Ørsted, Toyota, Schneider Electric, Woolworths Group, Tata Consultancy Services, Safaricom และ TSMC จะพบว่าบริษัทเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกัน 5 ประการที่หล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อความยั่งยืน
1.ปรับตัวเก่ง เรียนรู้ไว วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัทเหล่านี้ไม่เพียงลงทุนในการวิจัยและพัฒนา แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
Patagonia เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ด้วยโครงการ “Tin Shed Ventures” ที่สนับสนุนให้พนักงานเสนอไอเดียเกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนสามารถสร้างนวัตกรรมเส้นใย Yulex ที่ทดแทนยางสังเคราะห์ในชุดดำน้ำ ลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80%
Unilever ก็มีศูนย์นวัตกรรม “Hive” ที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากทั่วโลกมาทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
Toyota ใช้ระบบ “Creative Idea Suggestion” ที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
2.ใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว สร้างคุณค่าร่วมกันอย่างยั่งยืน บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มองแค่ผลกำไรระยะสั้น แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในระยะยาว
Unilever เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความร่วมมือกับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านโครงการ “Sustainable Living Plan” ที่ช่วยพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีการเกษตรยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยกว่า 8 แสนคนทั่วโลก
Natura &Co บริษัทเครื่องสำอางจากบราซิล ใช้แนวคิด “Commitment to Life” ในการทำงานร่วมกับชุมชนในป่าอเมซอน เพื่อจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ส่วน Safaricom ในเคนยา พัฒนาบริการทางการเงินผ่านมือถือ M-PESA ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้ให้บริษัท แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
3. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผยข้อมูล ช่วยสร้างความไว้วางใจ ความโปร่งใสในการดำเนินงานและการรายงานผลด้าน ESG อย่างครบถ้วน เป็นลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบริษัทเหล่านี้
Ørsted บริษัทพลังงานของเดนมาร์ก เป็นผู้นำในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแผนการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างละเอียด รวมถึงรายงานความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ
Patagonia ไปไกลถึงขั้นเปิดเผยข้อมูลซัพพลายเชนทั้งหมดของบริษัทผ่านแพลตฟอร์ม “Footprint Chronicles” ให้ลูกค้าสามารถติดตามที่มาของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้
ส่วน Schneider Electric ใช้ “Schneider Sustainability Impact” เป็นเครื่องมือในการวัดและรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างโปร่งใส โดยเชื่อมโยงกับการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารด้วย
4. ฝังความยั่งยืนในดีเอ็นเอองค์กร ทำให้ความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจของธุรกิจ สำหรับบริษัทเหล่านี้ ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงโครงการเสริม แต่เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจและค่านิยมหลักขององค์กร
Toyota เป็นตัวอย่างที่ดีในการผสานแนวคิดการผลิตแบบลีนเข้ากับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฮบริดและพลังงานสะอาด ภายใต้วิสัยทัศน์ “Environmental Challenge 2050” ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทยานยนต์คาร์บอนเป็นศูนย์
TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวัน ฝังแนวคิดความยั่งยืนเข้าไปในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบชิปที่ประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน
ส่วน Woolworths Group ในออสเตรเลีย นำเสนอแนวคิด “Better Tomorrow” ที่ผสานความยั่งยืนเข้ากับทุกแง่มุมของธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่การจัดหาสินค้า การบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดการขยะอาหาร
5. การมีกลไกประเมินความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทเหล่านี้มีกลไกที่ครอบคลุมการประเมินผลกระทบ ทั้งทางการเงินและผลกระทบภายนอกของกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ของตน โดยใช้เครื่องมือ เช่น การประเมินวงจรชีวิต (LCA) การวิเคราะห์รอยเท้าคาร์บอน และการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน
ตัวอย่างเช่น Natura &Co ใช้วิธีการประเมินผลกระทบตามบรรทัดฐานคู่ (twin standard impact valuation) เพื่อเชื่อมโยงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ TSMC ใช้เครื่องมือวิเคราะห์วงจรชีวิต (LCA) เพื่อติดตามและลดผลกระทบ เช่น การใช้ทรัพยากร การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และของเสียอันตราย เป็นต้น
บทเรียนจากบริษัทเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นในระยะยาวจากผู้นำและการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ
การลงทุนในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายด้าน ESG เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในระยะยาวได้อีกด้วย