แก้อ้อยไฟไหม้ 20 ปี โรงงานน้ำตาลไม่หยุดรับซื้อ

มากกว่า 20 ปี ที่มีการรณรงค์ให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยสดเพื่อลด PM2.5 แต่ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้ต่อเนื่องทุกปี และข้อมูลถึงวันที่ 26 ม.ค.2568 มีโรงงานถึง 11 แห่ง ที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้เกินหลักเกณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด 25% ของจำนวนรับซื้อทั้งหมด
โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวไร่อ้อยเผาเพื่อต้องการความสะดวกในการตัดและการขนส่ง และในอดีต 20 ปีที่ผ่านมามีการลักลอบวางเพลิงเผาอ้อยของหัวหน้าโควตาหรือนายทุน เพื่อต้องการบังคับซื้ออ้อยจากเกษตรกรรายเล็กในราคาถูก
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลจะอ้างถึงเหตุผลในที่สาธารณะว่าการรับซื้ออ้อยไฟไหม้จะมีความสกปรก รวมทั้งมีผลต่อกระบวนการผลิตน้ำตาลและเครื่องจักร
แต่ในปัจจุบันมีการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ทั้งจากโรงงานเล็กและกลุ่มโรงงานใหญ่ที่มีกำลังการผลิตรวมเกินวันละ 100,000 ตันอ้อย โดยอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2567/2568 ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. อยู่ที่ตันละ 1,160 บาท แต่ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้จะถูกโรงงานบังคับรับซื้อในราคาที่ต่ำลงประมาณตันละ 200 บาท หรือถูกกว่าเกือบ 20%
ที่ผ่านมามีมาตรการสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการเผาและลดปัญหาหมอกควันในอากาศ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณสำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในการซื้อเครื่องจักรตัดอ้อย ซึ่งในช่วงปี 2553-2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสินเชื่อรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท
รวมทั้งในปี 2564 อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือชาวไร่ตัดอ้อยสดเพื่อลด PM2.5 เกือบ 6,000 ล้านบาท รวมแล้วเป็นงบประมาณไม่น้อยที่ต้องการให้ชาวไร่ลดการเผาและโรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยสด
โรงงานน้ำตาลในระดับท็อปของประเทศไทยล้วนออกมาประกาศแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มที่มีโรงงานน้ำตาลทั้งในไทยและต่างประเทศ ประกาศวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจที่จะเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาลและ Bio-based โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับการบูรณาการบริหารจัดการเพื่อสร้างคุณค่าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้สังคม
ในขณะที่โรงงานน้ำตาลบางกลุ่มสร้างระบบนิเวศธุรกิจในแนวคิด BCG โดยให้ชาวไร่ปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนและรณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดสะอาด 100% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
ส่วนโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มประกาศมีกระบวนการผลิตได้มาตรฐานและยึดหลัก Health Concern แต่เมื่อมองในอีกมุมที่โรงงานน้ำตาลยังมีข้ออ้างในการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ เพื่อให้เดินเครื่องจักรได้ต่อเนื่องหลังการเปิดหีบ โดยโรงงานน้ำตาลความเข้มแข็งในหลักการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและอยู่ในเกณฑ์การรับซื้ออ้อยไฟไหม้ไม่เกินที่กำหนด