"แดด ลม และแผน" เส้นทางพลังงานสะอาดไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

"แดด ลม และแผน" เส้นทางพลังงานสะอาดไทย | วาระทีดีอาร์ไอ

ท่ามกลางวิกฤติโลกร้อน และแรงกดดันจากความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หลายประเทศทั่วโลกต่างเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้วย

ในปี 2567 ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1,050 เทราวัตต์-ชั่วโมง (TWh) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่พบว่ากว่า 76% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำโดยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

สะท้อนให้เห็นว่า พลังงานสะอาดกำลังกลายเป็น “กำลังหลัก” ในระบบพลังงานโลก และจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ดังนั้น ประเทศที่สามารถปรับตัวได้เร็ว จะมีโอกาสดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ได้มากกว่า โดยเฉพาะจากธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของนโยบาย การผลิต และการลงทุนในระดับโลก

1.ทิศทางนโยบายของประเทศมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา มีผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายพลังงานสะอาดระดับโลก

เห็นได้ชัดจากการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสในปี 2568 และการมีแผนสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วเกิดความลังเลในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2.การเติบโตของธุรกิจ Data Center ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการไฟฟ้าที่ “สะอาดและมีเสถียรภาพ” กำลังกลายเป็นแรงผลักให้เกิดการผลิตพลังงานสะอาดในรูปแบบไฮบริดมากขึ้น เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อให้ตอบสนองการใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3.การปรับตัวของตลาดแผงโซลาร์ จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2565 ทำให้ในปี 2566 กำลังการผลิตแผงทั่วโลกพุ่งสูงกว่าความต้องการใช้มากกว่า 2 เท่า และผู้ผลิตหลายรายแข่งขันกันลดราคา เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อยในหลายประเทศประสบปัญหา

ดังนั้น ผู้ผลิตรายใหญ่ในจีนจึงมีการปรับลดการผลิตและกำหนดราคาขั้นต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรม หากสำเร็จจะส่งผลให้ราคาของแผงกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น

พลังงานสะอาดไทย: ยังเดินช้า แต่ยังมีโอกาสวิ่งให้ทันโลก

แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการส่งเสริมพลังงานสะอาดเช่นกัน แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากโครงสร้างพลังงานที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงถึง 85% ในปี 2566 ไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพียง 15% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างชัดเจน

สะท้อนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของไทยยังช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดถึง 38%

สถานการณ์นี้อาจกลายเป็น “จุดอ่อน” ในแง่การแข่งขัน และความสามารถในการดึงดูดการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะจากธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด 

ไทยจะยังเดินตามหลังหลายประเทศอยู่บ้าง แต่กระนั้นไทยมี 3 ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานสะอาด ได้แก่

-ทำเลที่ตั้งของประเทศที่มีศักยภาพ ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง เหมาะกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แม้พลังงานลมจะยังมีไม่สูงนัก แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ในอนาคตอันใกล้

-ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ภายในปี 2573 จะลดลงถึง 27% ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นลดลงประมาณ 5% และไฟฟ้าจากพลังงานลมก็เริ่มเข้าใกล้ระดับต้นทุนที่พอแข่งขันได้ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเปรียบเทียบต้นทุนถูกต้องมากขึ้น การคำนวณต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ควรจะมีการรวมต้นทุนด้านการกักเก็บพลังงาน และการใช้โรงไฟฟ้าก๊าซที่เข้ามาช่วยเสริมเสถียรภาพด้วย

-บทบาทของนโยบายรัฐที่เริ่มเปิดรับมากขึ้น แม้ไทยจะยังไม่เปิดเสรีตลาดไฟฟ้าเหมือนกับหลายประเทศ แต่ก็มีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น โครงการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Corporate PPAs) และตลาดซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าพลังงานสะอาด

หากไทยสามารถพัฒนาไปสู่ตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น ก็จะสามารถเร่งให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดขยายตัว พร้อมทั้งดึงดูดภาคธุรกิจที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดสูงให้เข้ามาลงทุนด้วย

เป้าหมายไทยชัดเจน แต่ต้องขับเคลื่อนให้ทันเวลา

กล่าวได้ว่าประเทศไทยนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยจากร่างแผน PDP 2567 ที่มีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็น 51% ภายในปี 2580 และเป็น 74% ภายในปี 2593 เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกภาคส่วนคงจะเดินแบบเดิมไม่ได้ เราจำเป็นต้องมีแผนที่ดี ควบคู่ไปกับการเร่งปรับแนวทางการทำงาน และระบบให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย: เชื่อมแผนให้เป็นหนึ่ง เปิดพื้นที่ให้ทุกเสียงมีส่วนร่วม

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเดินหน้าได้จริง และเกิดผลในทางปฏิบัติ ไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างน้อยใน 2 มิติสำคัญ ได้แก่

การเชื่อมโยงนโยบายพลังงานระหว่างหน่วยงานให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจุบันการวางแผนด้านพลังงานของไทยยังแยกกันอยู่ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันในทางนโยบาย

รัฐควรจัดตั้ง “ระบบบูรณาการหรือกลไกกลาง” เพื่อเชื่อมโยงนโยบาย โดยเฉพาะ 5 แผนหลัก ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการน้ำมัน และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ

 แผนทั้งหมดต้องมีเป้าหมายร่วมกันในระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายร่วมกันในการนำไปปฏิบัติ พร้อมตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การเปลี่ยนผ่านพลังงานจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนมีโอกาสมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงการรับฟังความคิดเห็น แต่ต้องเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างให้เอกชน และประชาชนร่วมออกแบบนโยบาย ตั้งแต่การประเมินผลกระทบ ไปจนถึงการเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบ

การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไม่ใช่ภาระของรัฐฝ่ายเดียว แต่เป็นภารกิจร่วมของทั้งสังคม และทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน