คริปโทในมุมมอง IMF : จากสินทรัพย์ดิจิทัลสู่ส่วนหนึ่งของบัญชีเศรษฐกิจโลก

IMF ได้ตีพิมพ์เอกสาร Balance of Payments and International Investment Position Manual (BMP7) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเป็นมาตรฐานสากล สำหรับการจัดทำบัญชีดุลการชำระเงิน และสถานการณ์ลงทุนระหว่างประเทศ
เอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของ IMF ที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Crypto Assets อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
หรืออาจกล่าวได้ว่า IMF ได้เริ่มตระหนักถึงการกำหนดแนวทางสากลที่เหมาะสมสำหรับ Crypto Asset ผู้เขียนจึงขอนำเนื้อความบางส่วนจากเอกสารของ IMF มาสรุปและวิเคราะห์ ดังนี้
IMF นิยาม Crypto Assets อย่างไร
IMF นิยาม "Crypto Assets" ว่าเป็นสิ่งที่แทนมูลค่าในรูปแบบดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเข้ารหัส (Cryptography) และเทคโนโลยีการกระจายข้อมูล (DLT) เช่น บล็อกเชน เพื่อทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีคนกลาง
Crypto Assets สามารถจำแนก ได้สองลักษณะ คือ 1) ประเภทที่สามารถแลกเปลี่ยนแทนกันได้ แบ่งแยกได้ ไม่มีความเฉพาะตัว (Fungible token) เช่น Bitcoin และ 2) ประเภทที่มีความเฉพาะตัว ไม่สามารถแบ่งหรือแลกแทนกันได้ (Non-Fungible token) เช่น NFTs
Crypto Assets เป็นสินทรัพย์ทางการเงินหรือไม่
IMF ใช้หลักพิจารณาจาก “ผู้ออก” ว่ามี “liability” หรือ ภาระผูกพันที่ผู้ออกกำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกหรือไม่ หากเหรียญประเภทใด ผู้ออกมีการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายคืนมูลค่า หรือ ผู้ออกต้องรับผิดชอบชำระมูลค่ากลับคืนให้แก่ผู้ถือ Crypto Asset ประเภทนั้นย่อมเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset)
ในทางกลับกัน หากเป็นเหรียญที่ไม่มีผู้ออก ไม่มีใครเป็นผู้รับประกันมูลค่า หรือไม่มีภาระที่จะจ่ายคืน ย่อมไม่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Nonfinancial Asset) เช่น Bitcoin
ตัวอย่าง Crypto Asset ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น Stablecoin (e.g. USDC) ที่ผู้ถือสามารถนำกลับไปแลกเป็นเงินตราได้จากผู้ออก หรือ Security Token ที่ผู้ออกต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือปันผลให้กับผู้ถือ
หรือ กรณีของแพลตฟอร์มที่มีการออกเหรียญซึ่งผู้ถือสามารถแลกคืน (redeem) หรือ มีสิทธิได้รับการชำระมูลค่าในอนาคต เหรียญดังกล่าวจะถือเป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทตราสารหนี้ (Debt Security)
ดังนั้น ในการลงบัญชี ผู้ถือเหรียญ (investor) จะต้องบันทึกเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน และผู้ออก (แพลตฟอร์ม หรือ issuer) จะต้องบันทึกเป็นหนี้สิน (liability) ในทางกลับกัน Crypto Asset รายการใดไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน
IMF แนะนำให้บันทึกในบัญชีทุน (Capital Account) ซึ่งหลักการดังกล่าวสะท้อนข้อแนะนำในการแยกประเภท Crypto Assets เพื่อลงบัญชีในถูกว่าเป็น “บัญชีการเงิน” หรือ “บัญชีทุน”
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า เงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะลงบัญชีอย่างไร อาจต้องพิจารณาจากสัญญาระหว่างผู้ออกและผู้ถือเหรียญด้วย โดยควรระบุให้ชัดเจนถึงเงื่อนไขในการจ่ายคืนเงินต้น ดอกเบี้ย หรือมูลค่าอื่น ๆ ในอนาคต
ซึ่งหากสัญญาไม่ได้มีการระบุสิทธิใดไว้ เช่น เป็น Utility Token ที่ไม่การันตีการแลกคืน อาจไม่ถือเป็น Debt Security
ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ
การจัดประเภทให้ถูกต้อง และการแยกระหว่าง “บัญชีการเงิน” และ “บัญชีทุน” ออกจากกัน มีความสำคัญ เนื่องจาก IMF มองว่าจะช่วยให้การวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความถูกต้อง และทำให้ทราบถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองใน Crypto Asset อย่างเป็นระบบ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง จะช่วยให้ข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศมีความแม่นยำขึ้น และช่วยดูแลเสถียรภาพทางการเงินได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะหากคริปโทมีความผันผวนสูง รัฐบาลจะเห็นภาพรวมความเสี่ยงได้ดีขึ้น และสามารถกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงได้
เช่น หากมีการไหลเข้าของคริปโทในรูปของการลงทุนทางการเงิน รัฐอาจปรับใช้มาตรการควบคุมเงินทุนที่เหมาะสม หรือ หากการเข้ามาของคริปโทอยูในรูปของการสะสมทรัพย์สิน อาจส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนหรือดอกเบี้ยได้
ในทางกลับการ การลงบัญชีที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เช่น หาก Bitcoin ถูกบันทึกเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน อาจส่งผลต่อการบิดเบือนการไหลเข้าของเงินทุน (Capital flow) และอาจส่งผลให้ข้อมูลการลงทุนข้ามประเทศมีปริมาณมากเกินจริง
ซึ่งโดยสภาพแล้ว Bitcoin เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีภาระผูกพันจากผู้ออก การผันผวนของราคาจึงไม่ได้สะท้อนกระแสเงินจริงที่เคลื่อนผ่านระบบเศรษฐกิจโดยตรง
IMF แนะนำอะไร
ประการแรก ส่งเสริมให้ภาครัฐจัดให้มีมาตรฐานการรายงานข้อมูลธุรกรรมคริปโททั้งในประเทศและข้ามประเทศเช่นเดียวกับการโอนเงินทั่วไป
ประการที่สอง แนะนำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Asset เช่น ก.ล.ต. ธนาคารกลาง และสรรพากร จัดตั้ง Data sharing framework เพื่อแชร์ข้อมูลระหว่างกันโดยมุ่งหวังให้มีการวิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์ของ Crypto Asset
โดยในประเด็นนี้ ผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศอาจต้องมีความเข้าใจในเชิงมูลค่าของคริปโทด้วย เพื่อสามารถสร้างกลไกการติดตามธุรกรรมที่เกิดจาก Crypto Assets ผ่าน exchange/platform ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สาม หากข้อมูลบัญชี Crypto Asset ได้ถูกจัดทำอย่างเหมาะสมแล้ว ในอนาคตข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้เป็น “ข้อมูลพื้นฐาน” ให้กับภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
เช่น นโยบายภาษี นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการกำหนดมาตรฐาน AML/CFT ที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นการลดปัญหา regulatory gap จากการมองไม่เห็นการไหลเวียนของคริปโทบางประเภทที่ตรวจสอบเส้นทางได้ยาก
ท้ายที่สุดผู้เขียนเห็นว่า มุมมองของ IMF ที่มีต่อ Crypto Assets คือ “มองไปข้างหน้า ไม่ปิดกั้น แต่ไม่ละเลย” โดยต้องการให้ประเทศเห็นภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจที่ชัดเจน ผ่านการจัดระบบบัญชีที่เหมาะสม
แนวคิดนี้จะช่วยให้คริปโทและเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถพัฒนาไปได้ในระบบการเงินที่มั่นคงและโปร่งใสในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว
การมีมาตรฐานสากลในการมองภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งต่อนักลงทุน และต่ออุตสาหกรรมคริปโท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับภาครัฐที่จะเห็นภาพสินทรัพย์ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยต่อยอดการวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งระบบในอนาคตได้แม่นยำขึ้น.