สินทรัพย์ดิจิทัล กับ การโฆษณาอย่างรับผิดชอบ

การปรับปรุงเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งล่าสุด ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 68 เป็นการปรับปรุงเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการแสดงคำเตือนที่เหมาะสม ทำให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงและข้อจำกัดของสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนการตัดสินใจใช้บริการหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิด “การโฆษณาและส่งเสริมการขายอย่างรับผิดชอบ”สอดคล้องกับความคาดหวังของ ก.ล.ต.
“คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต หรือผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดำเนินงานในอนาคต โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”
เห็น “ข้อความเตือน” ด้านบนแล้ว หลายท่านน่าจะเดาได้ว่า วันนี้ผมจะมาชวนคุยเรื่องการโฆษณาเชิญชวนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อไม่นานมานี้ครับ
ต้องยอมรับว่า ในบางช่วงเวลา เช่น ช่วงที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปรับเพิ่มขึ้นแรง ๆ อย่างต่อเนื่อง มักจะดึงดูดความสนใจของประชาชนที่กำลังมองหาการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูง ๆ ได้มากอยู่แล้วนะครับ และถ้ายิ่งมี “โฆษณาและส่งเสริมการขายที่ไม่เหมาะสม” ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกระตุ้นให้ประชาชนเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยที่ยังไม่รู้จักไม่เข้าใจ ซึ่งการลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ และลงทุนเกินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง) จะเป็นอันตรายอย่างมากเลยครับ เพราะอาจจะทำให้สูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนตามคำเตือนด้านบนก็ได้ครับ
เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงเน้นให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ ในคอนเซ็ปต์ “รู้ลึก ลดเสี่ยง เรียนสนุก ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล กับ ก.ล.ต. Crypto Academy” ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ที่ SECCryptoAcademy.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
นอกจากจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สนใจลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน ซึ่งเป็น “เกราะป้องกัน” ได้ชั้นหนึ่งแล้ว ก.ล.ต. ยังเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุนมากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยการกำหนดหลักการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามหลักการสำคัญ 3 ข้อนี้ครับ
· ต้องถูกต้องและชัดเจน
· ต้องครบถ้วนและมีการเปรียบเทียบอย่างเหมาะสม
· ต้องไม่กระตุ้นให้ตัดสินใจโดยไม่เหมาะสม
ในการปรับปรุงเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลครั้งล่าสุด ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 68 เป็นการปรับปรุงเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการแสดงคำเตือนที่เหมาะสม ทำให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงและข้อจำกัดของสินทรัพย์ดิจิทัลก่อนการตัดสินใจใช้บริการหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิด “การโฆษณาและส่งเสริมการขายอย่างรับผิดชอบ” (responsible advertising & promotion) สอดคล้องกับความคาดหวังของ ก.ล.ต.
ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจ มีรูปแบบการนำเสนอคำเตือนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เป็นภาระเกินสมควร รวมทั้งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับหลักเกณฑ์การโฆษณาในด้านหลักทรัพย์ด้วยครับ
สำหรับ “คำเตือน” ที่เหมาะสมตามที่ ก.ล.ต. กำหนด ผมขอพาย้อนกลับไปที่ข้อความในย่อหน้าแรก เพราะเป็นข้อความที่ปรับปรุงแล้ว ให้เป็นข้อความรูปแบบเดียว และเข้มที่สุด ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแท้จริง
และเพื่อเสริมเกราะป้องกันให้แข็งแรงมากขึ้น ผมขอเชิญชวนมาช่วยกัน “ดูแล” โฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามที่ ก.ล.ต. กำหนดกันครับ ซึ่งต้องมาดูกันก่อนว่า โฆษณาและส่งเสริมการขายอย่างรับผิดชอบ ตามที่ ก.ล.ต. คาดหวังเป็นอย่างไร
ในมุมมองของ ก.ล.ต. แบ่งโฆษณาออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ครับ แบบแรกคือ การโฆษณาที่ไม่มีลักษณะเชิญชวน มาใช้บริการ เช่น การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุน การให้บริการ ภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัล
และการให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งการวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งโฆษณาในลักษณะนี้ ต้องไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
แบบที่สอง คือ การโฆษณาที่มีลักษณะเชิญชวนมาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี จะมีหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดทำโฆษณาให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด เช่น
(1) ต้องไม่เป็นการเร่งรัดให้ตัดสินใจใช้บริการหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงกำหนดเงื่อนไขหรือ สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณานั้นให้ชัดเจน เหมาะสม และเป็นธรรม
(2) ต้องไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน แสดงผลการดำเนินการในอดีตหรือประมาณการผลตอบแทนในอนาคตอย่างเหมาะสม ลูกค้าเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่สำคัญผิด
(3) ต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสมและมีการแจ้งสถานที่ติดต่อ
(4) ต้องให้ผู้มีบทบาทหลักในการโฆษณาเปิดเผยข้อมูลผู้ว่าจ้างในการโฆษณา และความสัมพันธ์หรือ ความเกี่ยวข้องของผู้ที่มีบทบาทหลักกับผู้ว่าจ้างในการโฆษณา
(5) ต้องนำเสนอข้อมูลประกอบการโฆษณา กรณีมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนควบคู่กัน
นอกจากนี้ ยังต้องดูแลการโฆษณาของบริษัทในกลุ่มและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ทำให้สับสน หรือสำคัญผิด ว่าเป็นการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
หากเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีความเสี่ยงและความผันผวนของราคาสูง จะมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอีกหัวข้อหนึ่ง คือ สามารถโฆษณาได้ในช่องทางที่เป็นทางการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเองเท่านั้น ไม่สามารถโฆษณาในช่องทางสาธารณะ รวมถึงการโฆษณาผ่านพื้นที่การโฆษณาของผู้อื่นด้วย เช่น พันธมิตรทางการค้า เป็นต้น
แต่ไม่ว่า “โฆษณา” จะพยายามเชิญชวนมากแค่ไหน หากท่านเป็นผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเป็นเกราะป้องกันแล้ว ผมมั่นใจว่า ท่านจะไม่ตัดสินใจลงทุนหรือไปใช้บริการ เพราะคำโฆษณาที่ดูเกินจริง เร่งรัดตัดสินใจ ชี้นำและประกันผลตอบแทน และจะนึกถึงคำเตือนความเสี่ยงที่เป็นข้อความมาตรฐานนี้อยู่เสมอแน่นอนครับ
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ