4 คำถาม เพิ่มภูมิคุ้มกันก่อนเลือกลงทุน
ขึ้นชื่อว่าเงินทอง กว่าจะหามาได้ก็แสนจะลำบาก เมื่อถึงคราวจะต้องใช้จ่ายเงิน หรืออยากลงทุนให้เงินที่เราหามานั้นงอกเงย เราก็คงอยากจะใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเรา หรือหากเราจะหาที่ลงทุนเราก็คงอยากได้ที่ที่ลงทุนที่ทำให้เงินงอกเงยมากกว่าที่จะต้องไปเสียให้กับ มิจฉาชีพ หรือ การลงทุนที่เสียเปล่ากันอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ
แต่ทุกวันนี้ การลงทุนมีมากมายหลากหลาย และหลายๆการลงทุนก็มีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย บางการลงทุนก็เป็นการลงทุนจริง แต่บางครั้งมิจฉาชีพก็ใช้การลงทุนมาอำพราง เพื่อหลอกให้เราเสียทรัพย์ ดังจะเห็นได้จากข่าวการจับกุมขบวนการหลอกลงทุนที่ปรากฎในสื่อไปเมื่อไม่นานมานี้ครับ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาแนะนำให้ผู้อ่านตั้งคำถาม 4 ข้อ ก่อนการลงทุนกันครับ
“จากข่าวที่ท่านผู้อ่านน่าจะได้อ่านผ่านกันมาแล้วเกี่ยวกับการลงทุนอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ถึงแม้จะจับตัวการได้ แต่กระบวนการในการไล่เรียงเพื่อนำเงิน คืนมานั้นก็ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้เวลาตามขั้นตอนอยู่นานพอสมควร และอาจจะได้เงินคืนไม่ครบตามจำนวนอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่จะป้องกันเราไม่ให้หลวมตัวไปเสียท่าให้กับกลุ่มมิจฉาชีพนั้นก็คือการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ให้กับตัวเราเองเสียก่อนครับ วันนี้ทางผู้เขียน ขอนำ 4 คำถาม ที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพมาฝากกันครับ
โดยที่ก่อนจะทำการลงทุนใดๆ ขอให้หาคำตอบของคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ให้ได้ก่อน โดยอาจจะส่งให้ทางผู้ที่ชักชวนให้ลงทุนเป็นคนตอบกลับมาแล้ว เราก็เอามาพิจารณาอีกทีครับว่า มีอะไรผิดปรกติในคำตอบนั้นหรือไม่ โดยคำถามทั้ง 4 มีดังนี้ครับ
1.การลงทุนที่ว่านี้ เป็นการลงทุนในอะไร สินทรัพย์ที่เรานำเงินไปลงทุนคืออะไร และผลตอบแทนที่จะได้รับจะอยู่ในรูปแบบไหน (เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไร) ปัจจัยที่มีผลต่อผลตอบแทนของการลงทุนมีอะไรบ้าง หากเรายังไม่เข้าใจว่าเรากำลังจะลงทุนในอะไรก็ยังไม่สมควรที่จะเข้าไปลงทุนครับ รวมถึงต้องเข้าใจถึงรูปแบบของผลตอบแทนด้วยว่าจะจ่ายเป็นแบบไหน และจ่ายเมื่อใดด้วยครับ
2.กฎเกณฑ์เงื่อนไขในการลงทุนเป็นอย่างไร เช่น ต้องลงทุนติดต่อกันเป็นจำนวนกี่งวด ต้องลงทุนนานเท่าไร สามารถถอนเงินออกมาได้เมื่อไร ประเด็นถัดมาคือ แต่ละการลงทุนจะมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่นประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ก็จะต้องจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาและจำนวนงวดที่กำหนดจึงจะได้รับผลตอบแทนตามสัญญา หรือ หุ้นกู้ก็จะมีทั้งที่ผู้กู้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ก่อน หรือไม่ได้ก่อน เป็นต้น
3.ความหน้าเชื่อถือของ รูปแบบการลงทุน ตัวบริษัทที่มาชักชวนเราให้ไปลงทุนมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด ถัดมาคือความหน้าเชื่อถือของบริษัทที่มาชักชวนเราไปลงทุน นั้นจะต้องตรวจสอบได้ มีที่อยู่แน่นอน มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นตรงต่อหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเช่น หากเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ ก็ต้องขึ้นต่อ กลต. เป็นต้น หากเป็นประกันชีวิต ก็ต้องขึ้นต่อ คปภ.
4.ผลตอบแทนที่ทางผู้ชักชวนให้ลงทุนแจ้งมานั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ สุดท้ายนี้คือ การตรวจสอบดูว่าผลตอบแทนที่ทางผู้ชักชวนแจ้งมานั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ มีที่มาที่ไปอย่างไร หากเป็นจำนวนที่ผิดปรกติมากๆ ตัวอย่างเช่น การการันตีว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 30% ต่อปี นั้น อาจจะต้องตรวจสอบแล้วว่าจะเอากำไรที่ไหนมาแบ่ง เพราะ ผลตอบแทนที่ว่ามานี้ สูงกว่าดอกเบี้ยปล่อยกู้ธนาคารเสียอีก ถ้าสามารถการันตีให้ดอกเบี้ยได้สูงขนาดนี้ ทำไม ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายถึงไม่นำเงินมาลงทุนในนี้แทนที่จะต้องปล่อยกู้
จากคำถามทั้ง 4 ข้อที่ว่ามานี้ หากผู้อ่านได้รับคำตอบมา แล้วพบว่ามีอะไรบางอย่างดูผิดปรกติ ไม่สมเหตุสมผล หรือตรวจสอบไม่ได้ ขาดหลักฐานความน่าเชื่อถือ ก็ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การลงทุนนี้อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถูกต้อง หรืออาจจะเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมา และขอให้หลีกเลี่ยงในการลงทุนนี้ไปเสียก่อน
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องเสียทรัพย์ เสียเวลาให้กับมิจฉาชีพครับ แต่หากพบว่าเป็นการลงทุนที่หน้าเชื่อถือ มีหน่วยงานกำกับดูแล ก็ขอให้ วิเคราะห์ถึงปัจจัยความเสี่ยงและเทียบกับการลงทุนอื่นๆก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วย และสำคัญที่สุดคือ อย่าลืมกระจายการลงทุนไปหลายอย่างๆเพื่อลดความเสี่ยงลงด้วยนะครับ