ผลตอบแทนจากการลงทุนกับความเสี่ยงต่างๆ

ยังคงมีกรณีตัวอย่างให้เห็นอย่างสม่ำเสมอกับเรื่องของการหลอกลวงลงทุนหรือแชร์ลูกโซ่ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับตลาดการเงินและการลงทุนหรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินน่าจะสังเกตได้ไม่ยาก แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นในกลุ่มที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการลงทุนหรืออาจจะอยู่ในสายงานที่แตกต่างออกไป นอกจากนั้นพัฒนาการของการหลอกลวงเองก็ยังมีการทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะหลักฐานปลอมในการทำธุรกรรม หรือหน้าพอร์ตการลงทุนปลอมๆ ทำให้เกิดการหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นและเข้าใจหรือจับสังเกตได้ยากขึ้น และยังเกาะกระแสในขณะนั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะมาในรูปของการฝากเทรด การเป็นผู้ถือหุ้น (ปลอมๆ) หรือการ่วมลงทุนต่างๆ แต่ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็มักจะมีส่วนร่วม 2-3 อย่าง ได้แก่
(1) การนำเสนอผลตอบแทนที่จูงใจอย่างมาก เช่น 5% ต่อเดือน และก็มีหลายกรณีที่มีการลดลงให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเช่น 3-5% เป็นต้น แต่โดยรวมเมื่อดูผลตอบแทนก็ยังสูงกว่าการลงทุนธรรมดาอยู่ดี เนื่องจากต้องมีแรงจูงใจที่มากพอให้นักลงทุนสนใจ (2) ความสม่ำเสมอของผลตอบแทน โดยส่วนใหญ่ผลตอบแทนจะไม่ขึ้นลงและได้คงที่อยู่เสมอ และอาจจะโดนเรียกในรูปแบบอื่น เช่น เงินปันผล เป็นต้น และ (3) การการันตีว่าจะไม่มีการขาดทุนเงินต้น ซึ่งทั้งสามข้อนี้นั้นแทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ในการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินตามปรกติ
ในเรื่องของการลงทุน สิ่งที่เราได้ยินกันอย่างสม่ำเสมอก็คือ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง ซึ่งหากคุ้นเคยดีก็จะพบได้ว่าข้อเสนอด้านผลตอบแทนเหล่านั้นดีเกินที่จะเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะถูกนำเสนอลักษณะใดก็ตาม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากมีคนนำเสนอผลตอบแทนที่สูงมากๆ ก็เป็นที่พึงสังเกตได้ทันทีว่าต้องมีความเสี่ยงในรูปแบบใดรูปหนึ่งตามมาเสมอ
ข้อแรก คือ ความเสี่ยงด้านราคา (Market Risk) ที่ทำให้ผลตอบแทนที่คงที่อย่างสม่ำเสมอเป็นไปไม่ได้เลย ในเรื่องของตลาดเงินแทบจะเรียกได้ว่าผลขาดทุนหรือการแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์และการลงทุนของเรานั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เช่น ตราสารหนี้ก็จะผันผวนตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ย ตราสารทุนก็จะผันผวนตามผลประกอบการและความคาดหวัง หรือ การลงทุนทางเลือก เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ก็จะผันผวนตามปัจจัยเรื่องของอุปสงค์อุปทาน และเรื่องของปัจจัยทางฤดูกาลต่างๆ เป็นต้น
ข้อสอง คือ ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) ที่ทำให้เราอาจไม่ได้เงินคืน กล่าวคือ เมื่อเงินออกจากเราไปแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใครก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืนเสมอ ต่อให้คนคนนั้นจะเป็นรัฐบาลก็ตาม ซึ่งความเสี่ยงด้านนี้ก็จะขึ้นอยู่ว่าเงินของเราหรือสินทรัพย์ที่เราไปซื้อนั้นคือใครหรือซื้ออะไร ในข้อนี้พื้นฐานคือการต้องทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ
การประเมินทรัพย์สิน และการรับรองจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ (Due Diligence) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งง่ายที่สุดก็คือการดูว่าได้รับรองจากหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอื่นๆ อย่างถูกต้องหรือไม่ ในปัจจุบันช่องทางก็ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านทางออนไลน์หรือสายตรงต่างๆ ที่หน่วยงานพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เสมอๆ
ข้อสาม คือ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ที่ทำให้เราอาจไม่ได้เงินคืนในเวลาที่ต้องการ โดยเฉพาะการซื้อขายที่ทำไม่ได้ในเวลาที่ต้องการ หรือราคาที่ผิดไปจากราคายุติธรรม
การลงทุนในลักษณะหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราก็คือกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาด (Private Market) เช่น หุ้นนอกตลาด (Private Equity) หรือ อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Property) ซึ่งผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอาจจะอยู่ในช่วง 10-20% ต่อปี นับได้ว่าสูงมากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพคล่องหรือด้านราคา หรือหากเราจะพิจารณาจากกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนเก่งๆ ที่สามารถชนะตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ ผลตอบแทนสูง แต่หากพิจารณาระหว่างทางก็จะพบว่าผลตอบแทนเหล่านั้นก็ยังมีความผันผวนของผลตอบแทนอยู่ดี และอาจจะขาดทุนได้ในบางครั้ง ซึ่งลักษณะเหล่านี้ก็จะขัดกับลักษณะผลตอบแทนของแชร์ลูกโซ่อย่างมาก
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ อีก เช่น เรื่องของกฏระเบียบที่เปลี่ยนไป แต่โดยรวมทั้งสามข้อคือความเสี่ยงหลักๆ ที่นักลงทุนต้องเผชิญ ซึ่งแม้จะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ที่ลงทุน แต่ทั้งสามส่วนจะเป็นองค์ประกอบหลักในการกำหนดผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาว แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงทั้งสามก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย
ทำให้เราต้องพึงถามตัวเองเสมอก่อนลงทุนว่าผลตอบแทนที่เราอยากได้นั้นต้องแลกมากับความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราต้องแบกรับ และมันคุ้มค่าหรือไม่ครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด