เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงกลับมาแล้ว จะเลือกลงทุนอย่างไรดี

เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงกลับมาแล้ว จะเลือกลงทุนอย่างไรดี

สวัสดีครับ ในช่วงนี้ที่หลายๆสินทรัพย์การลงทุนต่างให้ผลตอบแทนได้ไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไรนัก ทำให้นักลงทุนหลายท่านๆ อาจจะเลือกขายสินทรัพย์มาเก็บในรูปแบบของเงินสดกันมากขึ้น ผนวกกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

ทำให้เราเริ่มได้กลับมาเห็น หลายๆธนาคาร ออกโครงการเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงมาแข่งกันมากขึ้น โดยมีทั้งแบบดอกเบี้ยคงที่และแบบขั้นบันได ซึ่งมีหลายๆคนมาสอบถามผมกันเยอะในช่วงนี้ว่า ถ้าสนใจอยากฝากประจำจะเลือกแบบไหนดี วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาแบ่งปันหลักการพิจารณาการเลือกลงทุนในเงินฝากประจำ 

ให้ท่านผู้อ่านได้ลองเอาไปเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจก่อนการลงทุนกันนะครับ “หลักๆแล้ว การที่เราจะเลือกฝากเงิน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องดอกเบี้ย ว่าดอกเบี้ยที่จะได้รับนั้นจะเป็นอย่างไร เฉลี่ยออกมาแล้วเป็นเท่าไรต่อปีกันจริงมั้ยครับ ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ เงินฝากระหว่างธนาคาร ได้เป็นอย่างดี 

 

โดยหากเป็นเงินฝากประจำแบบดอกเบี้ยคงที่ ที่ได้เท่ากันเท่าเดิมในแต่ละปี ก็สามารถใช้ดอกเบี้ยต่อปีนั้นเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีได้เลยครับ แต่หากเป็นเงินฝากประจำแบบขั้นบันไดนั้น ผู้ฝากสามารถสอบถามทางธนาคารให้คำนวนดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีได้เลยครับ เมื่อเราได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีแล้วนั้น ก็สามารถนำมาเทียบกันได้เลยว่า ของทางธนาคารไหนให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ากัน โดยในกรณีนี้ จะยังไม่นำในส่วนของระยะเวลามาพิจารณา

ถัดมาคือในส่วนของภาษี โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า เงินฝากที่เราได้มานั้น ยังจะมีภาระในส่วนของภาษีที่จะต้องถูกหักอีก15% อีกด้วย เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำที่ออกโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธอส. ,ธกส. , ออมสิน เป็นต้น

 ดังนั้นหากจะเทียบดอกเบี้ยที่ได้จากธนาคารของรัฐกับ ธนาคารพาณิชย์อื่น จะต้องนำดอกเบี้ยของธนาคารที่ได้รับการยกเว้นภาษีมาหารด้วย 85% เสียก่อนเพื่อแปลงเป็นดอกเบี้ยเทียบเท่ากับดอกเบี้ยธนาคารทั่วไปที่มีการหักภาษีไว้ เช่น ดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีของธนาคารออมสินอยู่ 2.5% ต่อปี ก็จะเท่ากับ 2.5%/85% = 2.94% นั่นคือ จะต้องฝากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ให้ดอกเบี้ย 2.94% ถึงจะให้ผลตอบแทนเทียบเท่ากับเงินฝากธนาคารออมสินที่ 2.5% นั่นเองครับ

ปัจจัยถัดมาที่ควรจะนำมาพิจารณาก็คือ เงื่อนไขระยะเวลาในการลงทุน ว่าทางธนาคารนั้นจะต้องให้เราฝากเงินเป็นระยะเวลานานเท่าไร จึงจะได้ผลตอบแทนตามสัญญา ทั้งนี้เราควรเลือกระยะเวลาการลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่จะต้องใช้เงินก้อนนั้นครับ เพราะบางธนาคารจะกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า หากมีการถอนเงินออกมาก่อน จะได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาที่น้อยมากหรืออาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย 

ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ดีว่า จะต้องมีการใช้เงินก้อนนี้อีกทีเมื่อไร และ ต้องอย่าลืมนึกถึงกรณี ที่หากอนาคตหากมีโครงการเงินฝากประจำ ที่ให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่านี้ออกมา หากเราถอนเงินจากบัญชีเดิมไปโครงการใหม่ก็อาจจะไม่คุ้มเท่าไรนัก

และสุดท้ายหากเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลอยู่แล้วนั้น อาจจะลองพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้คุณภาพ ด้วยอีกทางหนึ่งเพราะนอกจะได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเงินฝากประจำแล้ว ยังได้สิทธิในส่วนของการลดหย่อนภาษีอีกด้วย โดยหากเป็น SSF นั้นจะมีระยะเวลาการถือครองขั้นต่ำ 10 ปี ส่วน RMF นั้นจะอยู่ที่ 5 ปีสำหรับผู้ลงทุนอายุ 50 ปีขึ้นไปครับ

สุดท้ายนี้ ทางผู้เขียนขอสรุปออกมาเป็นคำแนะนำดังนี้ โดยให้เริ่มจากการนำดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อปีของเงินฝากประจำของแต่ละธนาคารมาเทียบกันก่อน หากเป็นเงินฝากประจำแบบขั้นบันไดก็ให้ทางธนาคารทำการคำนวนมาให้เลย และหากเป็นธนาคารของรัฐที่ไม่มีการหักภาษีเงินฝากก็ให้นำดอกเบี้ยที่ได้มาหารด้วย 85% เพื่อที่จะแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยเทียบเท่าก่อนหักภาษี แล้วจึงมาพิจารณาในส่วนของระยะเวลาในการลงทุนให้เหมาะกับเรา

 โดยแนะนำให้แยกเงินเป็นหลายๆก้อน ลงแยกๆกันไปในบัญชีเงินฝากที่มีระยะเวลาในการฝากสั้นยาวไม่เท่ากัน เพื่อให้เงินนั้นครบกำหนดไม่พร้อมกันครับ เมื่อก้อนหนึ่งครบกำหนดแล้วก็จึงค่อยนำไปลงทุนต่อไป โดยวิธีนี้อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่ก็ทำให้ได้ผลตอบแทนมมาในค่าเฉลี่ย และมีความยืดหยุ่นที่ดีขึ้น

ลดความเสี่ยงจากกรณีที่มีเงินฝากโครงการใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม หรือการมีเหตุจำเป็นที่จะต้องถอนเงินออกมาก่อน และหากเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยแล้วนั้น อาจจะแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในรูปของ SSF หรือ RMF เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีด้วยอีกทางหนึ่งครับ “