ปรับหลักเกณฑ์แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเมื่อซื้อ SSF/RMF ปี 2565
เมื่อใกล้ถึงปลายปี หลายคนอาจกำลังเตรียมตัวเพื่อวางแผนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90/91) และสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนทั้ง RMF และ SSF ในปี 2565 นี้
กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF ที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนฯ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2565
โดยสามารถแจ้งขอใช้สิทธิลดหย่อนฯ ผ่านทางตัวแทนขายหน่วยลงทุน (ใช้แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์) หรือแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์กับบลจ.ที่ซื้อกองทุน โดยบลจ. จะเป็นผู้นำส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนไม่แจ้งความประสงค์ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน RMF และ SSF ได้
โดยการแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน SSF/RMF ดังกล่าว ทำให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องนำส่งเอกสารให้สรรพากรตรวจสอบตอนขอคืนภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรจะมีข้อมูลอยู่แล้วและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบได้ตอนยื่นภาษีประจำปีได้เลย เป็นการลดภาระผู้เสียภาษีในการเก็บหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนประกอบการยื่นแบบ ภงด.90/91 (จากที่แบบเดิมจะต้องแจ้งตรงต่อกรมสรรพากรโดยใช้หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนฯ)
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2561 จะพบว่าทางกรมสรรพากรได้เคยมีการออกหลักเกณฑ์เรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลลดหย่อน/ยกเว้นภาษีกับหน่วยงานภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง เช่นในกลุ่มของค่าลดหย่อนเบี้ยประกันฯ อันได้แก่ เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาฯ
รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยค่าลดหย่อนกลุ่มดังกล่าวนี้ ผู้เสียภาษีจะต้องแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิลดหย่อน/ยกเว้นภาษีต่อบริษัทประกัน ธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งในปี 2565 จึงได้มีการดำเนินการในรูปแบบเดียวกันนี้กับค่าลดหย่อนในการซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF ด้วยนั่นเอง
คำถามคือ แล้วเราจะสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนดังกล่าวนี้ได้จากช่องทางใด สำหรับการตรวจสอบข้อมูลค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ SSF ของตนเองนั้น หลังจากที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูลจากบลจ.แล้ว
เราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ใน website ของกรมสรรพากร ผ่านระบบ My Tax Account ซึ่งเป็นระบบที่แสดงข้อมูลเงินได้ ค่าลดหย่อน และรายการยกเว้นภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรได้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกไว้แล้ว และยังได้จัดเตรียมรูปแบบข้อมูล (Pre-Fill) ไว้เพื่อสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 (ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing) อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มค่าลดหย่อนในกลุ่มค่าบริจาค โดยการบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ที่ผู้บริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และยังไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาค เนื่องจากเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรได้มีเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานรับบริจาคไว้เช่นเดียวกัน
รูปแบบการแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน/ยกเว้นภาษีมีอะไรบ้าง?