เกษียณด้วยเงินปันผลต้องมีเงินเท่าไหร่
แม้ว่าเรากำลังเผชิญกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ทำให้ตามมาด้วยความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ส่งผลทำให้ราคาหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงต่างพากันปรับตัวลดลง แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ดูไม่ค่อยดีอย่างนี้อาจส่งผลที่ดีต่อคนที่วางแผนเกษียณอยู่ก็ได้
ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ อันดับแรก จากการที่ ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยของพันธบัตรและหุ้นกู้ต่างพากันปรับตัวขึ้น ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา ที่เราอยู่ในยุคดอกเบี้ยต่ำมาอย่างยาวนาน เลยทำให้ตราสารหนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก ดังนั้นตอนนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนสามารถหาตราสารหนี้เพื่อลงทุนภายใต้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน
สองจากการที่ ตลาดหุ้นต่างพากันปรับตัวลดลง ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอยที่อาจส่งผลต่อผลกำไรในอนาคตของบริษัทด้วยนะครับ ทำให้ผู้วางแผนเกษียณหรือผู้ที่เกษียณแล้วมีทางเลือกในการพึ่งพิงเงินปันผลเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน
เราลองมาคำนวณดูกันนะครับว่า ถ้าเราจะต้องอาศัยเงินปันผล หรือดอกเบี้ย เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เราต้องมีเงินลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้อย่างน้อยเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ โดยในที่นี้ผมจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มนะครับ คือ กลุ่มแรกแค่นำเงินปันผลหรือดอกเบี้ยมาให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
และกลุ่มที่ 2 นั้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ เหมือนช่วงก่อนเกษียณ (ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้คงแล้วแต่บุคคลบางคนอาจมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้) และสมมติฐานข้อสุดท้ายคือเราจะใช้เฉพาะเงินปันผลหรือดอกเบี้ยโดยไม่ได้นำเงินจากการขายหุ้นมาใช้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถตัดผลของการขยับขึ้นลงของราคาหุ้นไปได้
วิธีการที่เราจะใช้เพื่อคำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องเตรียมก็ง่ายๆโดยมีขั้นตอนดังนี้ครับ
1. ระบุเงินที่ต้องใช้รายเดือน เช่น
กลุ่มที่ 1 12,000 บาท เราก็เอา 12 มาคูณเพื่อรู้ค่าใช้จ่ายต่อปี ซึ่งกรณีเท่ากับ 144,000 บาท
กลุ่มที่ 2 50,000 บาท คูณ 12 = 600,000 บาท
2. หาหุ้นที่มีเงินปันผล (สัก 4-6 ตัว) ซึ่งในที่นี้สมมติว่าเฉลี่ยหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แล้วได้ 5%
ดอกเบี้ยหุ้นกู้และพันธบัตรในที่นี้ใช้ค่าเฉลี่ย 3.5% (หลังหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% )
3. นำค่าใช้จ่ายรายปีที่ได้จากจขั้นที่ 1 มาหารด้วยอัตราเงินปันผล หรือดอกเบี้ยในขั้นที่ 2 ก็จะได้วงเงินที่ต้องการ
ซึ่งเราจะได้ว่าถ้าจะพึ่งพิงเงินปันผลอย่างเดียวเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณ สำหรับกลุ่มที่ 1 ต้องมีเงินประมาณ 2.88 ล้านบาท แต่ถ้าจะขยับมาเป็นกลุ่ม 2 เราต้องมีเงินลงทุนถึง 12 ล้านบาท นอกจากนั้นเราลองคำนวณหาเงินที่ต้องเตรียมหากเราต้องพึ่งพิงดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวและ พอร์ตที่ผสมระหว่างเงินปันผลและดอกเบี้ยอย่างละครึ่ง โดยมีผลดังแสดงในรูปด้านล่าง
ก็คงเป็นแนวทางเบื้องต้นในการคำนวณหาเงินที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนเกษียณหรือเป็นแนวทางสำหรับผู้ทีเกษียณแล้วแต่อยากลองหาแนวทางในการหาพาสสีฟอินคัมจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยในช่วงนี้ หลังจากนั้นก็คงต้องไปดูรายละเอียดของหุ้นหรือตราสารหนี้ที่เราจะลงทุน โดยพิจารณาทั้งประวัติการจ่ายเงินปันผลในอดีตและแนวโน้มของผลกำไรในอนาคต
ท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนนะครับ