ก้าวสำคัญของการเงินสำหรับผู้พิการทางสายตา
สวัสดีครับ
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “การให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุมทุกภาคส่วน (Financial Inclusion)” ซึ่งมีความหมายว่าความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานที่ตรงกับความต้องการของบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม การชำระค่าสินค้าและบริการ การออม ตลอดจนการประกันภัยด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล โดยหากจะให้คำนิยามง่ายๆ แล้วน่าจะพูดได้ว่าเป็นการให้บริการที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามสามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบายเหมือนๆ กัน
ความทั่วถึงที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง นอกเหนือจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยังเป็นปัจจัยเร่งให้ทุกฝ่ายนำระบบการธนาคารแบบดิจิทัลมาใช้แพร่หลายมากขึ้นเพื่อให้บริการประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ดียังมีประชาชนอีกกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินนั่นคือผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นซึ่งประสบปัญหาเมื่อต้องไปใช้บริการทางการเงินที่สาขาธนาคาร
ด้วยเหตุนี้ แนวคิดด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการใช้บริการที่หลากหลาย (Inclusive Design Approach) ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงผู้สูงอายุ คนปกติ รวมถึงผู้พิการจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ทำให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีอุปสรรค ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาคการเงินต้องนำหลักการดังกล่าวเข้ามาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการออกแบบ ตั้งแต่สิ่งก่อสร้างไปจนถึงด้านการบริการโดยเฉพาะด้านการเงิน
แต่สำหรับธุรกรรมง่ายๆ ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันสามารถช่วยตอบโจทย์ได้มาก ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินที่ไม่ซับซ้อน อย่างการเบิกเงินสดได้โดยใช้ทั้งช่องทาง Mobile Banking และ ATM ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้งานสามารถเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรเข้ากับเครื่อง ATM และใช้คำสั่งเสียงเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ Bank of America หรือ Citibank ต่างมีเครื่อง ATM นี้ให้บริการลูกค้าอย่างครอบคลุม
ในประเทศสิงคโปร์ ธนาคาร 3 แห่งซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารดีบีเอส ธนาคารโอซีบีซี และธนาคารยูโอบี ได้กำหนดให้พนักงานสาขาต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถเปิดบัญชีในชื่อของตนเองได้ ซึ่งรวมถึงการอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดบัญชีธนาคารและความเสี่ยงของการใช้บัญชีในทางที่ผิดหรือการถูกหลอกลวง นอกจากนี้ Monetary Authority of Singapore ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศยังได้เน้นย้ำให้ธนาคารต่างๆ คำนึงถึงความต้องการในการเข้าถึงการบริการของลูกค้าที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตาประมาณ 190,000 คน โดยในบางกรณีบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร ซึ่งมีขั้นตอนมากกว่าการเบิกถอนเงินสด และผู้ใช้งานที่บกพร่องทางการมองเห็นยังคงไม่ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมดังกล่าวมากนัก เนื่องจากตามแนวปฏิบัติแล้ว
ธนาคารพาณิชย์กำหนดให้ผู้พิการต้องนำพยานมาเองโดยเฉพาะการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชี ด้วยเหตุนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงเร่งหาแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินตามหลักการปฏิบัติตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ข่าวดีล่าสุดคือธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ได้หารือกันในประเด็นการเปิดบัญชี และเห็นพ้องที่จะลดทอนขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและกำลังจะนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการทางการเงิน
จากข้อกำหนดใหม่ข้างต้น การเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนสำหรับผู้พิการทางสายตานั้นสามารถทำได้ง่ายดายกว่าเดิม หากผู้พิการนำพยานมาด้วยก็สามารถให้เป็นพยานได้ทันที หรือสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานสาขาให้ช่วยเป็นพยานได้เช่นกัน เอกสารแสดงตนที่ต้องใช้มีเพียงบัตรประชาชนควบคู่กับบัตรประจำตัวคนพิการ
นอกจากนี้ หากไม่สามารถลงนามโดยใช้ลายมือชื่อ ผู้พิการยังสามารถพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำเครื่องหมาย หรือใช้ตราประทับแทนลายมือชื่อ (หรือที่เรียกว่าการทำ “แกงได”) ได้โดยต้องมีพยานลงนามร่วมด้วยสองคน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าแนวทางการเปิดบัญชีสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นเพียงอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงบริการการเงินที่จำเป็น และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเราจะได้เห็นการบริการในลักษณะอื่นๆ โดยเฉพาะบริการทางการเงินดิจิทัลสำหรับผู้พิการทางสายตาออกมาอีกในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ผู้ใช้บริการทุกคนไม่ว่าจะมีร่างกายที่ปกติหรือไม่ก็ตาม จะต้องได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องของทุกคนครับ