Virtual Bank…..พลิกโฉมระบบการเงินไทยตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุคดิจิทัล
บทบาทของเทคโนโลยียุคดิจิทัลในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุดในภาคการเงินการธนาคารที่น่าสนใจ
คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงมีคำถามเกี่ยวกับ Virtual Bank ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ Virtual Bank คือธนาคารแบบใด เหมือนหรือต่างจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันอย่างไร เมื่อทุกวันนี้สังคมไร้เงินสดก็สะดวกสบายอยู่แล้ว ทำไมต้องมี Virtual Bank และผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์อย่างไร ซึ่งสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
ทำความรู้จักVirtual Bank ธนาคารที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ เดิมที Virtual Bank มีต้นแบบมาจากธนาคาร N26 (ชื่อเดิม NUMBER 26) ซึ่งเป็น Startup ด้าน FinTech จากประเทศเยอรมนีที่ก่อตั้งในปี 2013 และเริ่มให้บริการในรูปแบบธนาคารออนไลน์บนมือถือแบบไม่มีสาขาในปี 2015 ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคารอีกต่อไป ทำให้ N26 เป็นธนาคารที่สร้างประสบการณ์การให้บริการทางการเงินที่ใช้งานง่ายและรวดเร็วที่สุดในยุโรป
สำหรับ Virtual Bank ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ตามนิยามของ ธปท. จะมีรูปแบบเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย โดยให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ เน้นลูกค้ารายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม ที่สำคัญคือให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งหมายถึงเป็นธนาคารที่ไม่มีสาขาของตนเอง
แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ และให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้าผ่านการยืนยันตัวตน (KYC) การรับฝากเงิน รวมถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การโอนและชำระเงิน การให้สินเชื่อ และการลงทุน
นอกจากนี้ Virtual Bank ยังดำเนินธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย มีระบบคอมพิวเตอร์หลัก (Core Banking System) บนเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้
ทำไมต้องมี Virtual Bank ทั้งที่ปัจจุบันธนาคารให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอยู่แล้ว เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของ ธปท. ในการจัดตั้ง คือ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ (Innovation) ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินให้มากขึ้น
โดยVirtual Bank สามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกกลุ่มเหมือนธนาคารทั่วไป แต่จะเน้นให้บริการฐานลูกค้ารายย่อย และ SMEs มากขึ้น ได้แก่ ลูกค้าที่ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน/เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ทำให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินได้มากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลด้านสินเชื่อ พบว่าปัจจุบัน SMEs ของไทย (ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) มากกว่า 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI)
ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่มีสินเชื่อจากธนาคาร หรือได้สินเชื่อในวงเงินจำกัด จำเป็นต้องไปกู้จากนอกระบบ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีข้อมูลหรือประวัติทางการเงินมากพอ โดย Virtual Bank สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ตัวอย่างเช่น Virtual Bank ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน ได้แก่ WeBank ที่ใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data และ Artificial Intelligence)
ในกระบวนการให้สินเชื่อและประเมินความเสี่ยงลูกค้า เช่น การนำพฤติกรรมลูกค้าด้านใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กมาจัดทำ Credit Scoring ทำให้สามารถให้สินเชื่อขนาดเล็ก (Micro Credit) แก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมมาก่อนได้เป็นจำนวนมาก
แม้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับปรุงโครงสร้างระบบงานเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น แต่ระบบคอมพิวเตอร์หลักของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่น ๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Legacy System)
แต่สำหรับ Virtual Bank ที่ดำเนินธุรกิจในระบบคอมพิวเตอร์หลัก (Core Banking System) ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย ทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนำเสนอประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้ใช้บริการ เช่น Kakao Bank ซึ่งเป็น Virtual Bank ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ พัฒนาผลิตภัณฑ์บัญชีออมเงินสำหรับกลุ่มคนเพิ่งเริ่มมีรายได้ (First Jobber) หรือคนมีรายได้น้อย ที่ยังไม่มีทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสำหรับการออมเงินจำนวนน้อย ๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่คนรุ่นใหม่
ผู้ใช้บริการเชื่อมั่นใน Virtual Bank ได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจาก Virtual Bank อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป (Risk Proportionality) และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่น ๆเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน เช่น ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) เพื่อให้ผู้ฝากเงินกับ Virtual Bank ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งปัจจุบันมีการคุ้มครองวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ ในช่วงแรก(Phasing) ภายใน 3-5 ปี ธปท. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการประเมินการดำเนินงานของ Virtual Bank ซึ่งหากผ่านการประเมินดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงที่สอง คือ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ (Full Functioning) เพื่อให้ดำเนินกิจการอย่างมั่นคงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
ข้อดีของ Virtual Bank ในหลากหลายมิติ สำหรับในมุมของธนาคารหรือผู้ให้บริการ พบว่า ต้นทุนด้านการดำเนินการมีแนวโน้มลดลง (หากไม่รวมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย) เมื่อมีสาขาเป็นหน้าจอสมาร์ตโฟน ธนาคารก็ไม่ต้องลงทุนไปกับการทำสาขาและไม่มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรมากเท่าปัจจุบัน เมื่อต้นทุนลดลงไปบางส่วน ก็มีแนวโน้มที่ผลประโยชน์ก็กลับมาอยู่ที่ผู้ใช้บริการนั่นเอง
ขณะที่ในมุมผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไป ข้อดีที่เห็นชัดเจน คือ ทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และการที่ Virtual Bank เน้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็น Micro SMEs และรายย่อย ทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ใช้บริการมีทางเลือกในการใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องและเหมาะสมเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบันคนไทยมีการเรียนรู้และปรับตัวทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทาง Online Payment เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการชำระเงินทั้งหมด
นอกจากนี้ ในภาพรวมของระบบการเงิน การเกิดขึ้นของ Virtual Bank ทำให้มีผู้ให้บริการใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นธนาคารเท่านั้น แม้ในช่วงแรก จะอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ไม่เกิน 3 แห่ง แต่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาทั้งเงินฝากและสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับลูกค้ารายย่อยและ SMEs
การเกิดขึ้นของ Virtual Bank นับเป็นการก้าวสู่การเป็นธนาคารที่หลุดกรอบจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมอย่างชัดเจนสอดคล้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล และจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสในการให้บริการทางการเงินอย่างแท้จริง