ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?
นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มใช้บังคับและจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา
ซึ่งหลักการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จะจัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีฯ จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ กล่าวคือ ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ภายในวันที่1 ม.ค.ของปีไหน ก็เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น โดยอัตราภาษีจะแบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์และมีอัตราเพดานสูงสุดที่ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินของทางราชการ
ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่เริ่มใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินฯ สำหรับรอบปี 2566-2569 โดยทั่วประเทศมีการปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8% ทำให้ในปีนี้รัฐได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระภาษีเพิ่มเติม ได้แก่ ขยายเวลาเก็บภาษีที่ดินและปรับลดอัตราภาษีที่ดินฯ โดยสรุปดังนี้
1) มาตรการขยายเวลาเก็บภาษีที่ดิน ปี 66 ออกไปอีก 2 เดือน
- ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2566
- ส่งแบบแจ้งประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือนก.พ. 2566 เป็นภายในเดือนเมษายน 2566
- กำหนดชำระภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิ.ย. 2566
2) ปรับลดอัตราการจัดเก็บ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566”
- ลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ฯ
- กลุ่มที่ได้สิทธิลดภาระภาษี 50% อยู่แล้ว เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ได้มาทางมรดกก่อนวันที่ 13 มี.ค. 62 ให้ลดภาษีอีก 15% ของภาษีที่ลดไปแล้ว
- แต่ไม่รวมถึงกลุ่มที่ได้รับการลดภาษี 90 % ไปแล้ว เช่น โรงเรียน สวนสัตว์ สวนสนุก จะไม่ได้รับการลดภาษีตามมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก
เทรนด์การบริหารจัดการที่ดินรกร้างและที่ดินทำเกษตร ปี 2566
- Update หลักเกณฑ์ใหม่ในการทำเกษตร ปี 66
รัฐได้มีการออกหลักเกณฑ์แก้ไขเพิ่มเติมในกลุ่มพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การเพิ่มชนิดของพืชที่ปลูกได้ อาทิ แก้วมังกร อะโวคาโด เป็นต้น รายละเอียดกฎหมายฉบับเต็มสามารถเข้าไปดูได้ที่ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) 10 มีนาคม 2566
- ศึกษาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการที่ดินรกร้าง
กรณีมีที่ดินปล่อยรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์หากเจ้าของที่ดินปล่อยรกร้างติดต่อกัน 3 ปี ในปีที่ 4 จะถูกเก็บเพิ่มอีก 0.3% เช่น เดิมถูกจัดเก็บที่ 0.3% จะปรับเพิ่มเป็น 0.6% หรือจากล้านละ 3,000 บาท เป็นล้านละ 6,000 บาท และจะเพิ่มอัตราภาษีอีก 0.3% ในทุกๆ 3 ปีที่ปล่อยรกร้างไว้ แต่โดยรวมแล้วจะเก็บภาษีได้ไม่เกิน 3% ซึ่งเป็นเพดานสูงสุด
นอกจากการนำที่ดินรกร้างมาพัฒนาเพื่อทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว ล่าสุดปีนี้เราจะเห็นว่ามีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น นั่นก็คือ ที่ดินรกร้างหลายแห่งเริ่มถูกพัฒนาให้กลายเป็นตลาดนัดหรือตลาดกลางคืนมากขึ้น เช่น ที่ดินที่เดิมเคยเป็นสวนสนุกแดนเนรมิตก็มีแผนที่จะพัฒนาต่อเพื่อสร้างเป็น “ตลาดจ็อดแฟร์” ถือเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของที่ดิน และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยรกร้างไว้ ซึ่งที่ดินรกร้างถือเป็นกลุ่มที่เสียภาษีสูงที่สุด