ยังเกษียณไม่ได้
เมื่อกล่าวถึงการออมเพื่อการเกษียณอายุ หลายคนรู้สึกว่ามันอีกยาวไกล ยังไม่ต้องคิดก็ได้ พอวัยย่างเข้าเลขห้า หลายคนรู้สึกเสียใจว่าถ้ารู้อย่างนี้ จะไม่เกี่ยงเรื่องเวลาเลย จะตั้งหน้าตั้งตาออมและลงทุนเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุ 30 ปี
ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศในเอเชียที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่นๆในอดีต เริ่มต้นที่ญี่ปุ่น ซึ่งรู้ตัวว่าจะเป็นสังคมสูงวัยเร็วจึงค่อยๆบริหารจัดการมาตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
ถัดมาเป็นเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ทันตั้งตัว สมัยที่กำลังไต่บันไดแห่งความสำเร็จในการพัฒนาให้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเลื่อนชั้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งหารู้ตัวไม่ว่า ได้มาพร้อมกับความเครียดของประชากร จึงทำให้คนมีครอบครัวช้าลง หรือไม่ยอมมีครอบครัว หรือมีแล้วแต่ไม่ยอมมีบุตร เพราะกลัวความเหนื่อยยากในการเลี้ยงดู ทั้งกาย ใจ และกระเป๋าเงิน จึงทำให้อัตราการเกิดของประชากรลดฮวบฮาบในยุค 2523-2548 แม้รัฐบาลจะตระหนักและพยายามสร้างแรงจูงใจในช่วง 2549-2563 แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ปัจจุบันมีอัตราการมีบุตรเพียง 0.84 คนต่อประชากรหญิง 1 คนเท่านั้น
ส่วนจีนนั้น นโยบายลูกคนเดียวที่ใช้เพื่อควบคุมจำนวนประชากรตั้งแต่ปี 2522 ทำให้อัตราการทดแทนของประชากรต่ำ(อัตราการมีบุตร 2.1 คน ต่อประชากรหญิง 1 คน เป็นอัตราที่จะทำให้ประชากรรุ่นใหม่ทดแทนประชากรรุ่นเก่าได้) แม้จะยกเลิกนโยบายนี้ในปี 2558 แต่ครอบครัวจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ปรารถนาที่จะมีลูกมากกว่าหนึ่งคน
สำหรับไทย ก็คงคล้ายๆเกาหลีใต้ แต่หากไปดูในรายละเอียด จะพบว่ากลุ่มที่เพิ่มจำนวนประชากรให้กับประเทศไทยมากที่สุด เป็นกลุ่มคนชนบท มีลูกเมื่ออายุยังน้อย และดิ้นรนเข้ามาทำงานในเมือง แยกทางกับคู่เดิม ต่างฝ่ายต่างไปมีคู่ใหม่ ทิ้งลูกให้ตายายเลี้ยง ส่วนลูกกับคู่ใหม่ หากอยู่ด้วยกัน ก็อาจจะเลี้ยงดูเอง แต่หากมีความจำเป็นทางอาชีพ หรือหากแยกทางกับคู่ใหม่อีก ก็จะมีเด็กกึ่งกำพร้าแบบนี้ ส่งไปให้ตาและยายเลี้ยงเต็มไปหมด
ส่วนผู้ที่มีฐานะที่พอจะสามารถเลี้ยงดูเด็กได้ ก็มักจะไม่มีลูกค่ะ มีทั้งที่ตั้งใจจะไม่มีเพราะเห็นแต่ความลำบาก และที่ตั้งใจจะมีแต่ไม่มี
เร็วๆนี้บริษัทที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินขนาดใหญ่ Edward Jones ซึ่งอยู่ในรัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับ Age Wave ทำการวิจัย พบว่า 93% ของผู้สูงวัยในทวีปอเมริกาเหนือที่ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่าตนเองต้องปรับปรุงแก้ไขแผนการเกษียณ และพร้อมที่จะปรับแผน ซึ่งบางคนถึงกับมองว่าอาจจะเกษียณไม่ได้เลย หรือต้องเกษียณแบบลดระดับความเป็นอยู่มาก เนื่องจากอายุยืนมากขึ้น
โดย 96% ของผู้สูงวัยกลุ่มนี้ ยอมรับว่าต้องปรับเรื่องการเงิน 88% ปรับเรื่องสุขภาพ และ 85% เห็นว่าต้องมีการปรับเรื่องชีวิตครอบครัว ซึ่งเท่ากันกับการปรับจุดมุ่งหมาย
ในรายงานอีกฉบับหนึ่งซึ่ง Age Wave จัดทำขึ้นหลังโควิด ได้สำรวจผู้เกษียณโดยทั่วๆไป และพบว่าจะมีช่วงชีวิตคล้ายๆกัน 4 ขั้นตอน คือ 1. ช่วงเตรียมตัวเกษียณ มักจะกินเวลาน้อยกว่า 10 ปีก่อนเกษียณ 2. ช่วงเวลาลั้ลลา ประมาณ 0-2 ปีหลังเกษียณ จะรู้สึกอิสระมาก อยากเที่ยว อยากทำอะไรที่ชอบๆ 3. ช่วงเวลาปรับตัวและแก้ไขการใช้ชีวิต จะกินเวลาประมาณ 3-14 ปี หลังเกษียณ และสุดท้าย ช่วงที่ 4 คือ พบแนวทาง คือช่วงเวลาหลังการเกษียณแล้ว 15 ปีขึ้นไป
และได้พบว่าเราสามารถแบ่งกลุ่มผู้เกษียณได้เป็น 4 กลุ่มคือ 1. กลุ่มมุ่งมั่นวางแผนเพื่อเกษียณ และทำตามแผนอย่างเคร่งครัด กลุ่มนี้จะเริ่มเร็ว คืออายุเฉลี่ยที่เริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณคือ ประมาณ 34 ปี 2.กลุ่มชิวๆ เน้นการพักผ่อน สบายๆ เพราะจัดการการเงินเรียบร้อยแล้ว 3. กลุ่มท้าทายแต่มีความหวัง ตอนนี้เงินยังพอเพื่อการเกษียณอยู่ แต่อนาคตยังมีความท้าทายว่าเงินจะพอหรือไม่ หากอายุยืน และกลุ่มที่ 4. กลุ่มที่เสียใจ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสุขกับการเกษียณน้อยที่สุด ต้องวุ่นวายกับสุขภาพกายและสุขภาพการเงิน
คงจะมีเรื่องการวางแผนเพื่อการเกษียณและหลังเกษียณมาคุยกันอีกเป็นระยะๆนะคะ อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อนเพราะกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นประชากรหนึ่งในห้าของประเทศค่ะ