Looking beyond fixed income for yield
เป็นที่ทราบกันว่าในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางสำคัญเกือบทั่วทั้งโลก มีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายๆประเทศอยู่ในระดับสูง เช่นประเทศสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 5-5.25% เป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงภายในระยะเวลาปีเดียวนั้น
ส่งผลต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนมีการลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอนั้น ได้รับผลกระทบจากราคาของตราสารหนี้ที่ปรับตัวลงอย่างมาก เพราะราคาตราสารหนี้จะสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย ในปี 2022 ดัชนี Bloomberg Global Aggregate bond นั้นติดลบถึง 16.25% เป็นปีที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ขณะที่ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงหนักเช่นกัน อย่างไรก็ตามในปี 2023 น่าจะให้ภาพที่ต่างไปจากเดิม
นับตั้งแต่ต้นปีเราให้คำแนะนำว่า ปีนี้จะเป็นโอกาสในการล็อกอัตราผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงในรอบทศวรรษ เนื่องจากมีโอกาสมากที่เงินเฟ้อนั้นจะทำจุดสูงสุดแล้วเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะทำจุดสูงสุดในปีนี้ และจะเริ่มปรับตัวลดลงถ้าภาพเงินเฟ้อนั้นชะลอตัวลง รวมไปถึงถ้าเศรษฐกิจนั้นเริ่มชะลอตัวลงก็มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็เป็นได้ ทำให้เราได้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้นับตั้งแต่ต้นปีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลสำรวจของผู้จัดการกองทุนที่จัดทำโดย Bank of America ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนให้น้ำหนักกับตราสารหนี้นั้นมากกว่าหุ้นในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่สูงนั้นน่าสนใจก็จริง
แต่เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพของตราสาร ทำให้ที่ผ่านมาเราแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหรือลดการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือ High yield bond เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้น และเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่คุณภาพสูงที่มีอายุเฉลี่ยคงเหลือในระยะกลางถึงระยะยาวเพื่อลดความเสี่ยงเรื่อง reinvestment risk หรือความเสี่ยงจากการนำเงินที่ได้จากตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไปลงทุนต่อ
นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแต่ตราสารหนี้จะเป็นทางเลือกเดียวที่น่าสนใจในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนในกองทุนผสมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่านักลงทุนอาจจะยังไม่มั่นใจต่อทิศทางของยีลด์ หรืออัตราดอกเบี้ยว่าจะขึ้นหรือลงต่อจากนี้ โดยถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลง เพราะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีกับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวแต่หุ้นกู้เอกชนก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนรวมนั้นลดลง
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ของจูเลียส์แบร์ไม่ได้คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ หรือถึงแม้ว่าจะเกิดก็จะค่อนข้างเบา หรือ mild recession ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นก็จะกระทบกับผลตอบแทนรวมของตราสารหนี้ แต่ขณะเดียวกันตลาดหุ้นก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้
อย่างไรก็ตามด้วยความไม่แน่นอนที่สูง กลุ่มหุ้นปันผลในกลุ่ม Defensives และ Quality growth นั้นมีความน่าสนใจ จากข้อมูลในอดีตในภาวะที่เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง หุ้นเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า หรือ Outperformed ตลาดหุ้นโดยรวม ทำให้นักลงทุนมีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนจากอัตราเงินปันผลที่สูงรวมไปถึงราคาหุ้นที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพดีนั้นจะมีความแข็งแรงและทนต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ยังคงน่าสนใจและได้รับความนิยม จากนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ คือการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนนอกตลาด (Private Credit) ซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ได้ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้นถึงระยะกลางโดยแลกกับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช่วยในการกระจายความเสี่ยงและยังเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน นอกเหนือจากการลงทุนในตราสารหนี้ในตลาดเพียงอย่างเดียวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน