การลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศกับ Negative Carry จากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
หนึ่งในสินทรัพย์ที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างๆ คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีเหมาะสำหรับการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในปีนี้ คือ กลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหลังจากให้ผลตอบแทนติดลบหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีในปี 2022
ในปีนี้ตราสารหนี้ต่างประเทศมีความน่าดึงดูดในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นมามาก และโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงในอนาคต จากความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง การลดลงของการคาดการเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Yield) ซึ่งเมื่อผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวลดลงก็จะทำให้ราคาของพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุน ทำให้เมื่อพิจารณาทั้งจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมามากในช่วงปีที่ผ่านมา และโอกาสที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้นในช่วงนี้
การลงทุนในต่างประเทศ การตัดสินใจหลักๆ อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นมาก โดยความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ในช่วง 7-12% ต่อปีโดยประมาณ (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนรายวันย้อนหลัง 3 เดือนและปรับให้เป็นรายปี) นั่นหมายความว่าหากการลงทุนต่างประเทศให้ผลตอบแทนในช่วง 5-6% ค่าเงินบาทอาจจะสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ของการลงทุนจากบวกเป็นลบได้หากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม (บาทแข็งค่า) กับทิศทางของราคาสินทรัพย์นั่นเอง
โดยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นพื้นฐานคือการเข้าทำสัญญา Foreign Exchange Swap ซึ่งมักจะได้ยินคำพูดติดปากกันอยู่บ่อยๆ ว่าทำการล็อกเรตอัตราแลกเปลี่ยนไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการยืมเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์ มาขายล่วงหน้าไว้ก่อน แลกกับการปล่อยกู้เงินบาทออกไป (เนื่องจากเงินดอลลาร์ ส ที่เรามีเราจำเป็นจะต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น บอนด์ หุ้น แล้ว ทำให้ต้องไปกู้จากตลาดเงินมาขายล่วงหน้า) โดยการกู้ยืมเงินต่างประเทศนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายก็คืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของสกุลเงินนั้นๆ เช่น สำหรับสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอายุ 3 เดือนอยู่ที่ 5.2% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทยอายุ 3 เดือนอยู่ที่ 1.9%
ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะมีต้นทุนราวๆ 3.3% ต่อปีเลยทีเดียว (สมมติว่าอัตราดอกเบี้ยอายุ 3 เดือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีก 1 ปี) แตกต่างจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อัตราดอกเบี้ยมีความใกล้เคียงกันมากกว่านี้ และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยในทางปฏิบัติการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมักจะทำด้วยธุรกรรมอายุไม่ยาวนัก อาจจะน้อยกว่า 1 ปี หรือเพียง 1-6 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ทำธุรกรรมใหม่เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อไป (Rollover) จากหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารสภาพคล่องหรือเรื่องของความเสี่ยงด้านเครดิตกับคู่สัญญา (Counterparty Risk)
ในภาวะปัจจุบัน นักลงทุนเริ่มกลับมาคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง เพื่อความมั่นใจในการควบคุมเงินเฟ้อ เนื่องจากยังมีองค์ประกอบบางส่วนของตะกร้าเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงต่อการกลับมาเร่งตัวขึ้นได้อีกครั้ง และภาคแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตรของกลุ่มประเทศหลักๆ ยังคงเกิดภาวะที่เรียกว่า “Inverted Yield Curve” ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 เดือนในปัจจุบันอยู่ที่ 5.2% เทียบกับอายุ 5 ปีที่ 3.9% (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 12 มิ.ย. 65)
ทำให้หากการลงทุนเน้นลงทุนในพันธบัตรอายุ 5 ปี แต่การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนใช้ต้นทุนอายุ 3 เดือน จะทำให้การลงทุนมี Negative Carry หรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนต้องเสียไปราวๆ 1.3% ต่อปีนั่นเอง แต่หากเราเน้นการลงทุนในพันธบัตรหรือกองทุนอายุสั้นๆ เพื่อลดส่วนต่างตรงนี้ก็อาจจะทำให้การลงทุนเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มหากผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง
สุดท้ายนี้ Negative Carry ไม่ได้ลดทอนความน่าสนใจของการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะลดลงนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็ว เนื่องจากเงินเฟ้อที่เริ่มลดลงอย่างช้าๆ และเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ไม่ร้อนแรงเหมือนในช่วงปีก่อนหน้า
แต่การที่เกิด Negative Carry นั้น ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาปัจจัยให้ถี่ถ้วนเพิ่มเติมโดยจะเห็นได้ว่า การที่การลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจะประสบความสำเร็จในช่วงข้างหน้านั้น นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น จะยังคงมีองค์ประกอบหลักๆ อีก 3 เรื่องที่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดี ได้แก่ (1) อายุของตราสารที่จะลงทุน
(2) สัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และ (3) ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีข้อแตกต่างกันมากในกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด