มาตราการทางภาษีอากรระหว่างประเทศ (Pillar Two) ในบริบทของการซื้อขายและควบรวมกิจการ (M&A) ในต่างประเทศ
กลุ่มประเทศ G-20 และองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-Operation and Development: OECD) เข้ามามีบทบาทในการปฎิรูประบบกฎหมายภาษีอากรระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ โดยการกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศที่มีภาระภาษีสูง และโยกย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีภาระภาษีต่ำกว่า หรือไม่มีภาระภาษี (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ทั้งนี้ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายภาษีอากรในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจบริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในประเทศของตนเอง
Pillar Two คือหนึ่งในมาตรการภาษีอากรระหว่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบทางด้านภาษีแก่บริษัทไทยที่ได้ลงทุนในต่างประเทศ โดยหลักการของ Pillar Two คือ GloBe Rule หรือ Global Anti-Base Erosion เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำทั่วโลกจากกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโร (หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท) ในอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% (Global Minimum Tax)
โดยจะพิจารณาจาก Effective Tax Rate (ETR) ของบริษัทในเครือที่เข้าไปประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศทั่วโลก หากเสียภาษีในประเทศใดต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% โดยไม่มีการปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้จัดเก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำตามข้อกำหนด Pillar Two แล้ว ก็ให้สิทธิประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ (Ultimate Parent Entity: UPE) สามารถเก็บภาษีเพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราที่เสียในประเทศนั้นและอัตราภาษีขั้นต่ำได้ (Top-UP Tax) โดย OECD
สนับสนุนให้ Pillar Two มีผลบังคับใช้ในปี 2566 อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับนโยบาย Pillar Two เมื่อวันที่ 7 มี.ค 2566 ที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวภายในปี 2566 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2568
เนื่องจากบริษัทไทยมีการลงทุนผ่านการซื้อขายและควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition : M&A) ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อพิจารณาและผลกระทบทางภาษีบางประการจาก Pillar Two ในมุมมองของ M&A ที่นักลงทุนควรพิจารณาดังต่อไปนี้
· ศึกษาโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทในต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุน (Target Group Holding Structure) อย่างรอบคอบ หากมีบริษัทในกลุ่มในเครือตั้งอยู่ในประเทศที่เสียภาษีต่ำกว่าอัตรา 15% (ETR) ตามกฎ Pillar Two อาจส่งผลให้มีภาระภาษีเพิ่มเติมเกิดขึ้นจาก Target Group Holding Structure ภายหลังจากการซื้อขายและควบรวมกิจการได้ ดังนั้นในขั้นตอนของการทำ M&A เช่น การทำ Tax Due Diligence อาจจะต้องพิจารณา ETR ของบริษัททั้งกลุ่ม แม้บางบริษัทจะเป็นเพียง Holding Companies ที่ไม่ได้ทำธุรกรรมอื่นใดก็ตาม
· พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัททั้งก่อน (Pre-Restructuring) และหลังการซื้อและควบรวมกิจการ (Post-Merger Integration) โดยพิจารณาทั้งสถานะทางภาษี และโครงสร้างเดิมของกลุ่มของบริษัทไทยที่จะเข้าไปลงทุนรวมทั้งกลุ่ม Target ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบริษัทใด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซึ่งประกอบกิจการ หรือเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Companies) และอยู่ในกลุ่มประเทศซึ่งไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีในอัตราต่ำ (Tax Heaven) เมื่อ Pillar Two มีผลบังคับใช้แล้ว โครงสร้างดังกล่าวอาจไม่ช่วยประหยัดภาษีอีกต่อไป
นอกจากนี้ หากบริษัทเหล่านั้นเป็นเพียง Pure Holding Companies ไม่มีพนักงาน ไม่มีอำนาจการตัดสินใจหรือการบริหารงานในประเทศเหล่านั้นจริง (Economic Substance) อาจทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนซึ่งอาจส่งผลกระทบทางภาษีในภาพรวมของทั้งกลุ่มบริษัทได้
· ในการจัดทำ Financial Model เพื่อประกอบการซื้อขายและควบรวมกิจการ นอกเหนือจากภาระภาษีตามกฎหมายภายในแต่ละประเทศแล้ว อาจจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษีบนหลักการของ Pillar Two ใน Financial Model ด้วย เพื่อให้เห็นผลกระทบทางภาษีและกำไรที่จะกลับมายังผู้ลงทุนอย่างแท้จริง และยังอาจส่งผลกระทบต่อ bidding price ด้วยอีกประการหนึ่ง
· ควรมีการเตรียมพร้อมทั้งในแง่ของบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และ เทคโนโลยีที่จะใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล การคำนวณ ETR ตาม Pillar Two ซึ่งอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากการคำนวณ ETR ตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ และมีความซับซ้อนในส่วนของการประมวลผลเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ Pillar Two
แม้ว่า Pillar Two ยังไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายในประเทศไทยในขณะนี้ บริษัทไทยซึ่งมีแผนการลงทุนในต่างประเทศควรเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจในหลักการของ Pillar Two เพื่อใช้ประกอบการพิจารณารูปแบบการลงทุน/ขยายการลงทุน/ปรับโครงสร้างการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านภาษีอากรและการปฎิบัติให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมาย Pillar Two ที่จะใช้บังคับในอนาคต
หมายเหตุ บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย วรรณา สุธีรพรชัย พาร์ทเนอร์ นิอร ยุคลธง และภราธร วิเชียรเนตร ผู้อำนวยการ Merger & Acquisitions ดีลอยท์ ประเทศไทย