ข้อดีสำหรับการลงทุนในตราสารยั่งยืน
การมาถึงของกองทุนลดหย่อนภาษีเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ในชื่อ Thailand ESG Fund หรือ Thai ESG น่าจะช่วยกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนยั่งยืน (Sustainability Investing) ในหมู่นักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย
ซึ่งการลงทุนในบริษัทหรือกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial) นั้นจะช่วยให้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ในทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยง ความสามารถในการแข่งขัน ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างรอบด้านมากขึ้น
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และส่งผลดีต่อการลงทุนในกิจการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย … โดยกองทุน Thai ESG นั้นนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้มีการออมในตราสารยั่งยืนมากขึ้นแล้วยังน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนยั่งยืนมากขึ้น โดยข้อดีหลักๆ ของการลงทุนยั่งยืนมีดังนี้
ตราสารยั่งยืนมีผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบ (Relative Performance) โดยรวมที่ดีกว่าโดยเฉพาะในช่วงตลาดขาลง บริษัทที่มีการคำถึง ESG ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานด้านการเงินอย่างจริงจัง (ESG-Focused Company) มักจะมาพร้อมข้อได้เปรียบและการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้านที่ดีกว่า เช่น ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า บุคลากรที่มีประสิทธิภาพมีความผูกผันและมีส่วนผลักดันต่อกิจการที่ดีกว่า ความถึงพอใจของลูกค้าและคู่ค้าที่ดีกว่า การจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ถูกต้องเหมาะสม
รวมถึงการลดทอนโอกาสในเกิดความเสี่ยงไม่คาดคิดในด้านต่างๆ ได้ดีกว่า ซึ่งกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น (Shareholder Value) ได้ดีขึ้น ทำให้การลงทุนไม่ว่าจะเป็นทั้งตราสารหนี้ในลักษณะของการเป็นเจ้าหนี้ หรือตราสารทุนในลักษณะของการเป็นเจ้าของร่วมก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่น้อยกว่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และตลาดทุนขึ้น ก็จะทำให้การลงทุนในตราสารยั่งยืนเหล่านี้มีมูลค่าที่เด่นชัดมากขึ้น
ในส่วนของผลตอบแทนในระยะยาวก็มีทิศทางที่ดีโดยปัจจัยด้านความยั่งยืนจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญไม่แพ้ปัจจัยด้านธุรกิจอื่นๆ ที่จะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางของธุรกิจ ผลประกอบการ อัตราการเติบโต รวมถึงมูลค่าของกิจการด้วย
นักลงทุนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์นั่นมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างมาก โดยก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบและความเสียหายมากมายต่อทั้งชีวิตและระบบเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาโลกร้อน ไฟป่า น้ำท่วม ฝนแล้ง สภาพอากาศแปรปรวน การลงทุนในตราสารยั่งยืนจะทำให้นักลงทุนมีส่วนช่วยลดทอนความรุนแรงของปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ เช่น การลงทุนในพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) หรือ พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond)
ซึ่งก็จะมีการนำเงินไปลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) นั้นก็จะเป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่มีการกำหนดเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนที่เด่นชัด ซึ่งนักลงทุนเองก็ยังได้ประโยชน์จากการที่กิจการเหล่านี้คำนึงถึงความยั่งยืนทำให้มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าอีกด้วย ในขณะที่หุ้นยั่งยืนก็จะทำให้ผู้ลงทุนมีส่วนต่อการผลักดันหรือมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างผ่านทางการลงทุน การส่งเสริมกิจการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนก็จะทำให้บริษัทจดทะเบียนต่างๆ มองเห็นมูลค่าของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
การลงทุนในความยั่งยืนของการทำธุรกิจอันเกิดจากความเข้าใจมิติที่รอบด้าน ทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้ดีกว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล ผ่านมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น จะช่วยให้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รอบด้านกว่า ทำให้ประเด็นต่างๆ และอาจรวมถึงความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงในลักษณะ Tail Risk ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรง หรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นั้นถูกบริหารจัดได้ได้ดีกว่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนที่ความไม่แน่นอนในด้านต่างๆ นั่นส่งผลเสียต่อการลงทุนของนักลงทุนด้วย
สุดท้ายนี้ การทำความเข้าใจ รวมถึงการติตตามการลงทุนยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ต้องอาศัยเครื่องมือด้านการลงทุนที่ซับซ้อนก็สามารถทำได้ โดยข้อมูลที่แพร่หลายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นมีอยู่มากมากหลายช่องทาง ทั้งในเรื่องของ ESG Ratings จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือผู้ประเมินจากภายนอกต่างๆ ข้อมูลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report)
ข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ยั่งยืนต่างๆ จากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association) หรือข้อมูลจากรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Report) จากบริษัทต่างๆ โดยตรง ก็น่ามากเพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจและติดตามฐานะการลงทุนต่างๆ สำหรับนักลงทุนทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านความยั่งยืนที่ทุกคนควรร่วมมือกันภายใต้บทบาทในสังคมและระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมีอยู่ ซึ่งความร่วมมือยิ่งมากก็จะยิ่งทำให้บรรลุเป้าหมายที่จะส่งผลกระทบในด้านดีอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคนต่อเนื่องไปจนถึงคนรุ่นถัดๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้นด้วยครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด