ปรับพอร์ตอย่างไรเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในภาวะ “Higher for Longer”

ปรับพอร์ตอย่างไรเมื่อดอกเบี้ยอยู่ในภาวะ “Higher for Longer”

“Higher for Longer” และทำให้สภาวะการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป นักลงทุนจึงควรปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งสร้างผลตอบแทนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้

นอกเหนือจากความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่สร้างความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนแล้ว ความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคากลางสหรัฐฯ (FED) ที่เปลี่ยนแปลงตามตัวเลขเศรษฐกิจและการสื่อสารจากคณะกรรมการ FED ก็มีผลกระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนแทบทุกประเภท โดยล่าสุดนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า FED จะลดดอกเบี้ยได้เพียง 1-2 ครั้ง ลดครั้งแรกในการประชุมเดือนกันยายน แตกต่างจากช่วงต้นปี 2024 ที่คาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้ง หรือรวมทั้งสิ้น 1.50% ภายในปีนี้ ซึ่งกดดันราคาตราสารหนี้ให้ปรับลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้ปรับฐานลง ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ 

ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนส่วนใหญ่ออกมาบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อล่าสุดยังทรงตัวในระดับสูงที่ 3.5% หนุนจากเงินเฟ้อภาคบริการ และคณะกรรมการ FED ยังคงเน้นย้ำว่ายังไม่มีความมั่นใจเพียงพอว่าจะสามารถควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับกันตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ล่าสุดเพิ่มขึ้น 1.75 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าตลาดคาด และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้านอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ประกอบกับค่าจ้างก็ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนภาพรวมการจ้างงานที่เริ่มอ่อนแรงลง แต่ทั้งนี้ข้อมูลตลาดแรงงานเพียงเดือนเดียว อาจยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า FED จะลดดอกเบี้ยได้เมื่อไหร่และกี่ครั้ง จึงยังคงต้องติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน ตลอดจนทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน 

แม้จะไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่า FED จะลดดอกเบี้ยได้กี่ครั้ง แต่จากข้อมูลที่มีพบว่า FED มีแนวโน้มที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยช้าและในอัตราที่น้อยกว่าคาด ย่อมทำให้ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง หรือที่เรียกว่า “Higher for Longer” และทำให้สภาวะการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป นักลงทุนจึงควรปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งสร้างผลตอบแทนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้ด้วย

1. เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ประโยชน์ เนื่องจาก (1) หุ้นกลุ่มการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้รับอานิสงค์บวกจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (Interest Margin) เพิ่มขึ้น หนุนกำไรของธนาคาร (2) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง หนุนกิจกรรมทางธุรกิจทั้งการควบรวมกิจการ รวมถึงการระดมทุนในตลาดหุ้นกู้และตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ธุรกิจกลุ่ม Investment Bank (3) ระดับราคาหรือ Valuation ยังถูกกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ (4) ถ้าหากพรรค Republican ชนะการเลือกตั้งในปีนี้ หุ้นกลุ่มการเงินมีโอกาสได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายข้อบังคับในสถาบันการเงิน ดังที่อดีตประธานาธิบดี Trump เคยดำเนินนโยบายในวาระก่อน

2. เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพและเติบโตสูง (Quality growth) เช่น (1) บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ยังคงมีผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่น หนุนจากความต้องการที่อยู่ในระดับสูง เกาะไปกับกระแสปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) และมีความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมีนวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ (2) บริษัทเจ้าของแบรนด์ระดับโลก ที่มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น ทำให้มีความสามารถในการเพิ่มราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากดอกเบี้ยและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับสูง 

3. ลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกองทุน Hedge fund ที่มีกลยุทธ์ซื้อ (Long) และขาย (Short) สกุลเงินหลักต่างๆ โดยมี Base Currency คือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการวิเคราะห์ถึงปัจจัยพื้นฐานหลายด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ บอนด์ยีลด์ รวมถึงกระแสเม็ดเงินลงทุนเข้า-ออก ซึ่งนอกเหนือจากโอกาสการลงทุนในสกุลเงินแล้ว สินทรัพย์นี้ยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากมีความสัมพันธ์ หรือ Correlation ต่ำกับตลาดหุ้นและตราสารหนี้ 

4. ลดสัดส่วนของสินทรัพย์ที่อ่อนไหวกับบอนด์ยีลด์ที่อยู่ระดับสูง อย่างหุ้นที่จ่ายปันผลสูง เช่น กลุ่ม Utilities และ Real Estate รวมไปถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ REITs โดยดอกเบี้ยระดับสูง นอกจากจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมแล้ว ยังทำให้ส่วนต่างของอัตราเงินปันผลเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแคบลง และสินทรัพย์มีความน่าสนใจน้อยลง