ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ THOR เครื่องมือการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาลง

ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ THOR เครื่องมือการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาลง

THOR เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่สำหรับตลาดการเงินไทยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการนำมาใช้เมื่อเดือนเม.ย. 2563 โดยจะถูกคำนวณขึ้นมาจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร ทำให้สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมเงินบาทที่มีความน่าเชื่อถือ มีสภาพคล่องสูง และมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายไทย

การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ทางการเงินหลายชนิด ตั้งแต่หุ้น ตราสารหนี้ จนถึงดอกเบี้ยเงินฝาก ทุกครั้งที่ธนาคารกลางประกาศปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นหรือลง นักลงทุนย่อมให้ความสนใจและเตรียมกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นหรือลงของดอกเบี้ย การซื้อขาย Duration ในตราสารหนี้ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการใช้ THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่สำหรับตลาดการเงินไทยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการนำมาใช้เมื่อเดือนเม.ย. 2563 โดยอัตราดอกเบี้ย THOR จะถูกคำนวณขึ้นมาจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร ทำให้สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมเงินบาทที่มีความน่าเชื่อถือ มีสภาพคล่องสูง และมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายไทย

ทางด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงดอกเบี้ย THOR ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีความหลากหลายสอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย THOR ในแต่ละภาวะตลาด ยกตัวอย่าง การลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงผลตอบแทนในลักษณะ THOR Link Binary Note นับเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในภาวะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีโอกาสปรับขึ้น/ลงไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย THOR ภายในกรอบการเคลื่อนไหวและระยะเวลาที่กำหนด หรืออย่างในปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางดอกเบี้ยในต่างประเทศ ทางธนาคารไทยพาณิชย์เอง เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากสถานการณ์ข้างต้น

โดยเรามีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ผลตอบแทนอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ผ่านกลยุทธ์การลงทุนใน 2 ส่วนคือ (1) การลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือระดับ Investment grade ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนของเงินต้น และ (2) สร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยเข้าทำธุรกรรมสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (IRS : Interest Rate Swap) อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคารไทย (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) 

สำหรับจังหวะและโอกาสการลงทุนในช่วงเวลานี้ ที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยผ่านจุดสูงสุดแล้ว และมีโอกาสปรับตัวลดลงตามทิศทางของโลก จึงเหมาะกับการลงทุนในกองทุนที่มีการทำ Interest Rate Swap อ้างอิงตามการเคลื่อนไหวของ THOR ในรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนแบบลอยตัวสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิง หรือที่เรียกว่า Inverse Floater THOR ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนในลักษณะเป็น “ผกผัน” กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย THOR หมายความว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ย THOR ลดลง ผลตอบแทนของ Inverse Floater THOR จะเพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ย THOR เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนของ Inverse Floater THOR จะลดลง และเนื่องจาก THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เคลื่อนไหวใกล้ชิดกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. จึงมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้กองทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไปในช่วงภาวะวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง

จะเห็นได้ว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเข้าสู่จุดสมดุล การลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิง ดอกเบี้ย THOR ถือทางเลือกที่ดีในการจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน ดังนั้น การเข้าใจเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างมั่นใจและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในการลงทุน