หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชน : รวมกันเราอยู่

"Blended Finance" หรือ "หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชน" หรือจะให้เรียกเต็มๆ คือ “หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งคือเครื่องมือทางการเงินที่รวบรวมเงินทุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงกองทุนเพื่อการกุศล เกิดขึ้นเพราะการพึ่งพาแหล่งเงินทุนเพียงแหล่งเดียวไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

สวัสดีครับ

การสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมหาศาลผ่านเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการระดมทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการพูดถึงมาหลายปี แต่เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นและอยู่ในแทบทุกวงสนทนาด้านความยั่งยืนมาในระยะไม่กี่ปีมานี้เอง ผมกำลังพูดถึง "Blended Finance" หรือ "หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชน" หรือจะให้เรียกเต็มๆ คือ “หุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งคือเครื่องมือทางการเงินที่รวบรวมเงินทุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงกองทุนเพื่อการกุศล แนวคิดเรื่อง “หุ้นส่วนการเงิน” นี้เกิดขึ้นเพราะการพึ่งพาแหล่งเงินทุนเพียงแหล่งเดียวไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ 

เครือข่ายระดับโลกที่ชื่อว่า Convergence ได้ติดตามพัฒนาการและความก้าวหน้าของ Blended Finance และให้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยว่า ในปี 2565 มูลค่าของหุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชนมีปริมาณต่ำสุดในรอบ 10 ปี แต่ในปีถัดมา (2566) ตัวเลขดังกล่าวกลับ “พลิกฟื้น” ทะยานไปแตะที่มูลค่ากว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ยิ่งไปกว่านั้น กว่าร้อยละ 40 ของข้อตกลงทั้งหมดในปี 2566 เป็นข้อตกลงที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2565 ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น

ตัวเลขนี้มีความสำคัญอย่างไร หากมองให้ลึกลงไป ข้อตกลงและจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นในระดับนี้อนุมานได้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกกลับมาตื่นตัวกับแนวทางการระดมทุนในรูปแบบหุ้นส่วนการเงินนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้โครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้รับเงินทุนจากแหล่งเงินที่หลากหลาย ทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มความสำเร็จของโครงการ พร้อมลดความเสี่ยงจากการ “ช็อต” เงินสนับสนุน นั่นเป็นเพราะว่าหลักการลงทุนนี้จะเน้นการกระจายความเสี่ยง (Risk Sharing) เนื่องจากแหล่งเงินทุนมาจากหลากหลายแห่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรการกุศล ดังนั้น ความเสี่ยงจึงไม่กระจุกตัวที่ภาคใดภาคหนึ่งเป็นหลัก

หนึ่งในตัวอย่างของโครงการแบบหุ้นส่วนการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าคือ Project GAIA ซึ่งเป็นความร่วมมือของ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผนึกกำลังกับ FinDev Canada สถาบันการเงินในประเทศแคนาดา ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย Project GAIA นี้จะมุ่งเน้นสนับสนุนโครงการขนาดเล็ก อาทิ การพัฒนาพลังงานสะอาด การขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงจะช่วยจัดสรรเงินทุนแก่ภาคส่วนต่างๆ ที่บางครั้งมักไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก เช่น การจัดการน้ำและของเสีย หรือ การก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ เม็ดเงินกว่าร้อยละ 70 จะมุ่งไปเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) และโครงการที่ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Mitigation) ที่น่าสนใจคือ มีการตั้งเป้าว่าเงินลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 25 จะต้องไหลเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States) เนื่องจากประเทศและเกาะเหล่านี้มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ 

ทั้งนี้ ก่อนจะเริ่มดำเนินโครงการหุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชน ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา อาทิ กรอบการกำกับดูแลในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ศักยภาพของสถาบันการเงินในประเทศนั้นๆ ตลอดจนความต้องการเงินสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังมีอยู่มาก โดยทางออกที่เป็นไปได้ในการใช้ Blended Finance ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอาจเริ่มได้จากการจัดตั้งภาคีหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน การสร้างมาตรฐานกลาง (Taxonomy) เพื่อความชัดเจน และการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานเพื่อยกระดับความสามารถของทุกภาคส่วน เป็นต้น

เรียกได้ว่าศักยภาพของหุ้นส่วนการเงินภาครัฐและภาคเอกชนนั้นมีอยู่มาก เพราะสามารถตอบโจทย์ด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อมิติความยั่งยืน เมื่อทุกคนนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกเดือด คนที่ได้ประโยชน์คงจะหนีไม่พ้นภาคธุรกิจและประชาชน ธุรกิจใหญ่และธุรกิจ SME จะสามารถเดินหน้าปรับตัว พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการเปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องกับบริบทโลกใหม่ การผสมผสานการสนับสนุนการเงินจากภาครัฐและภาคเอกชนลักษณะเช่นนี้ จะช่วยสร้างความต่อเนื่องในการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ 

แม้โมเดลนี้จะยังคงใหม่สำหรับประเทศไทย และมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ทุกอย่างเป็นไปได้หากทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน แน่นอนเรายังต้องสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน แต่เราต้องไม่ทิ้งผลกระทบและปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลัง หากเราทุกคนให้ความสำคัญกับ “Blended Finance” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ “รวมกันเราอยู่” มากเท่าใด ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาได้มากเท่านั้น อนาคตสีเขียวคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนครับ