ใช้ประโยชน์ขุมพลัง AI ยกระดับความยั่งยืน

AI อาจไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ที่เข้ามาทำลายธุรกิจเสมอไป แต่จะกลายเป็น “ผู้ช่วย” ที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและผลตอบแทนที่สมเหตุผล หากเรารู้จัก เข้าใจ และใช้งานเป็น

สวัสดีครับ

ก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีแล้ว คงจะไม่มีเทคโนโลยีใดจะร้อนแรงและ “สั่นสะเทือน” ทุกวงการไปมากกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence (AI)” โดยเฉพาะ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่หลายท่านน่าจะเคยใช้งานมาบ้างแล้ว ยิ่งโลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจย่อมมากขึ้นเท่านั้น ทั้งในการทำธุรกิจทั่วไปหรือธุรกิจธนาคาร ในด้านความยั่งยืน การนำ AI เข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์และยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย แต่เราต้องไม่ลืมพิจารณาทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันครับ

ก่อนหน้านี้ มีข่าวออกมาว่านักลงทุนจากฝั่งอเมริกา มองว่า ESG อาจไม่ใช่วิธีการในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำยังเริ่ม “ถอนคันเร่ง” หรือถอนเงินลงทุนจากกองทุนด้านความยั่งยืนด้วยเหตุที่ว่าไม่ทำกำไรมากเท่าที่คาดไว้ แต่การมุ่งเก็บเกี่ยวผลกำไรเพียงมิติเดียวจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ณ ขณะนี้หรือไม่ บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง McKinsey ได้รายงานว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาภายในปี ค.ศ. 2030 ประชากรโลกกว่า 5 พันล้านคน ต้องเผชิญกับภัยด้านสภาพภูมิอากาศอย่างภัยแล้งและน้ำท่วม เทียบกับ 3.3 พันล้านคนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน จากทั้งแรง “เหยียบคันเร่ง” และ “ถอนคันเร่ง” ที่เกิดขึ้นทั้งสองขั้วนี้ เราอาจจะเริ่มรู้สึกว่าไม่มีคำตอบง่ายๆ ให้กับปัญหาโลกร้อนเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีคนพยายามหาทางออกอย่างไม่หยุดหย่อนครับ และ AI อาจจะเป็นหนึ่งในทางออกนั้น

จุดเด่นของ AI คือความสามารถอันทรงพลังในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ยิ่งในช่วงเวลาที่ข้อมูลเปรียบเสมือน “ขุมทรัพย์” นี้ การมีข้อมูลขนาดใหญ่ในมือจะยิ่งเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ด้วยความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับมิติด้านการดำเนินงานของสถาบันการเงิน AI จะช่วยให้ธนาคารวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนและการให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงใช้ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานด้าน ESG ของลูกค้าได้

ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคมและความยั่งยืน (SSF) เราอาจสามารถนำ AI มาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ทำให้ธนาคารสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของผลตอบแทนและผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หรือ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เป็นต้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถคาดการณ์และประเมินผลกระทบด้าน ESG ของการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธนาคารสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกผ่านการให้สินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันกาล

JP Morgan Chase สถาบันการเงินระดับโลกของสหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ AI เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้าน ESG ในการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน โดย JP Morgan Chase ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า "ESG Discovery" เพื่อวิเคราะห์และประเมินข้อมูล ESG ของบริษัทต่างๆ ซึ่งช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างรอบด้านมากขึ้น 

ฝั่งของเอเชีย Ant Group บริษัท Fintech ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ด้วยการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้ AI วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ผ่านการตั้งค่าวงเงินสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติอิงจาก “ประวัติการทำธุรกรรม” ของผู้ใช้งานที่เข้ามาทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของ Alibaba เพื่อส่งเสริมแนวทางการให้สินเชื่อที่ยั่งยืน ซึ่งวิธีนี้ช่วยควบคุมอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในระบบให้อยู่ที่ร้อยละ 1-2 เท่านั้น 

ทว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน การใช้ AI สนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้าน ESG มาพร้อมกับความท้าทายที่ไม่อาจมองข้าม อาทิ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล เพราะการใช้ AI ต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า สถาบันการเงินจึงต้องยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและโปร่งใส รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการตัดสินใจของ AI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

ด้วยเหตุนี้ การยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ด้วย AI มีทั้งโอกาสและความท้าทาย แม้ AI จะมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการดำเนินงานด้าน ESG แต่เราไม่สามารถละเลยความเสี่ยงและข้อควรระวังตามที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรอาจเริ่มได้จากปรับกระบวนทัศน์ ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการพัฒนา AI โดยพิจารณามิติด้าน E-S-G โดยละเอียด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรม ความรับผิดชอบ และการสร้างคุณค่าในระยะยาว ที่สุดแล้ว AI อาจไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ที่เข้ามาทำลายธุรกิจเสมอไป แต่จะกลายเป็น “ผู้ช่วย” ที่ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและผลตอบแทนที่สมเหตุผล หากเรารู้จัก เข้าใจ และใช้งานเป็นครับ