ลงทุนอย่างไร เมื่อการลดดอกเบี้ยของ Fed ใกล้เข้ามาทุกที

ลงทุนอย่างไร เมื่อการลดดอกเบี้ยของ Fed ใกล้เข้ามาทุกที

สถิติในอดีต พบว่า หาก Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เกิด Recession ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้งในระยะ 6 และ 12 เดือนหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ

เป็นที่คาดหมายกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรก ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 17-18 ก.ย.นี้ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 525 bps ในช่วงตั้งแต่ มี.ค. 2022 ถึง ก.ค. 2023 และคงไว้ในระดับสูงที่ 5.25%-5.50% อย่างยาวนานกว่า 13 เดือน ซึ่งในการประชุมประจำปีของ Fed ที่ Jackson Hole เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา Fed ก็ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า มีความคืบหน้าเพียงพอในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดย Jerome Powell ประธาน Fed เผยว่า ตนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2% และถึงเวลาแล้วที่ Fed ควรจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ SCB CIO คาดการณ์ว่าในปีนี้ Fed มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในการประชุมฯ เดือน ก.ย. พ.ย. และ ธ.ค. รวมทั้งสิ้น 75 bps ส่วนในปี 2025 คาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ย รวม 125 bps ส่งผลให้ดอกเบี้ย Fed fund สิ้นปี 2025 อยู่ที่ 3.25%-3.50% โดยมองว่า การลดดอกเบี้ยในรอบนี้มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) และ โอกาสในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

นอกจาก Fed แล้ว เรายังมองว่า ธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ รวม 50 bps (นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า ECB จะลดดอกเบี้ย 6 ครั้ง ถึงปี 2025) ธนาคารกลางในเอเชียส่วนใหญ่ ในประเทศจีน เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และ ไทย มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 4 ปี 2024 ขณะที่ คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในไตรมาส 4 ประมาณ 25 bps อยู่ที่ 0.50%

ผลต่อสินทรัพย์ต่างๆ ภายหลัง Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย 

ผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ: อ้างอิงจากสถิติในอดีต เราพบว่า หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เกิด Recession ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้งในระยะ 6 และ 12 เดือนหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ แต่ในกรณีที่เกิด Recession เช่นปี 2001 ซึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม และปี 2007 ซึ่งเกิดวิกฤตการเงิน เราพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับลดลง นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีโอกาสเกิด Recession ค่อนข้างต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในช่วงที่เศรษฐกิจเป็น Soft Landing จะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า 

ผลต่อตราสารหนี้สหรัฐฯ: อ้างอิงสถิติในอดีต เราพบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 2 ปี จะปรับลดลงทั้งระยะ 6 และ 12 เดือนหลัง Fed เริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก และปรับลดลงมากกว่า Bond Yield อายุ 10 ปี ส่งผลให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิด Recession สำหรับ ผลตอบแทนรวมของดัชนีตราสารหนี้สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นทั้งในระยะ 6 และ 12 เดือน หลัง Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การที่ตลาดมีการ Pricing ความคาดหวังการลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เรามองว่า ผลตอบแทนรวมของดัชนีตราสารหนี้สหรัฐฯ หลังจากนี้จะมาจากอัตราดอกเบี้ยตราสาร (Carry Yield) เป็นหลัก 

ผลต่อเงินดอลลาร์ สรอ.: อ้างอิงสถิติในอดีต เราพบว่า สกุลเงินดอลลาร์ สรอ.มีแนวโน้มอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทั้งในช่วง 6 และ 12 เดือนหลัง Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรก โดยเรามองว่า ในปัจจุบันเงินดอลลาร์ สรอ.ได้อ่อนค่ามาค่อนข้างมากแล้ว ตามการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed และ ความกังวลความเสี่ยง Recession ในสหรัฐฯ ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น โอกาสที่เงินดอลลาร์ สรอ. จะอ่อนค่าจากปัจจุบันไปอย่างมาก มีค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก ยังมีความกังวลความไม่แน่นอนด้านนโยบาย (Policy Uncertainty) จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาว การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่มีแนวโน้มมากกว่า ธนาคารกลางหลักอื่นๆ ประกอบกับ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ BoJ จะส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก 

ผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์: อ้างอิงสถิติในอดีต เราพบว่า ราคาน้ำมัน และทองคำ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นทั้งในช่วง 6 และ 12 เดือนหลัง Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคาน้ำมัน ยังเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมาก จากการกลับมาเพิ่มการผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกพลัส ขณะที่ อุปสงค์ลดลงต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ในด้านของ ราคาทองคำ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจาก การเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางแห่งต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ แทนเงินดอลลาร์ สรอ. ท่ามกลางความกังวลบนประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว 

กลยุทธ์การลงทุน จากสถิติในอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ต่างๆ มักให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบในเดือน ก.ย. ได้แก่ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และ ทองคำ ขณะที่ สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในเดือน ก.ย. 2024 จะมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ได้แก่ การประกาศตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือน ส.ค. ที่สำคัญ (6 ก.ย.) การโต้วาทีครั้งแรกระหว่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Trump และรองประธานาธิบดี Harris (10 ก.ย.) รวมทั้ง การประชุม ECB (12 ก.ย.) การประชุม Fed (17-18 ก.ย.) ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจพักฐาน หลังปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากนับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นสหรัฐฯ เข้าพอร์ตการลงทุนในระยะยาว (Core Portfolio) 

โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Barbell ที่มีสัดส่วนของหุ้นกลุ่ม Quality growth ผสมผสานกับกลุ่ม Defensive ได้แก่ Utilities, Health Care และ Consumer Staples ในส่วนของตราสารหนี้ เราแนะนำลงทุนหุ้นกู้สหรัฐฯ ที่มีคุณภาพสูง (IG) และพันธบัตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะบนช่วงอายุ 2-4 ปี เพื่อล็อก Carry Yield ในช่วงที่ Yield Curve มีแนวโน้มปรับเพิ่มความชันขึ้น นอกจากนี้ เรายังแนะนำลงทุนทองคำในพอร์ตการลงทุนระยะยาว เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจาก ความไม่แน่นอนด้านนโยบายบนประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์