ทุจริตในบริษัทจดทะเบียน เท่ากับฉ้อโกงมหาชน

ทุจริตในบริษัทจดทะเบียน เท่ากับฉ้อโกงมหาชน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2510-2514) เสนอการจัดตั้งตลาดทุน จนกระทั่งได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ

โดยเปิดซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2518 หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้มแข็งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การดำเนินการส่งเสริมตลาดทุนเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้บริษัทมหาชนจํากัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยความประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจํากัดไม่เกินจํานวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชําระ และบริษัทดังกล่าวได้ระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งทำให้บริษัทมหาชนมีข้อแตกต่างจากนิติบุคคลอื่น เพราะมีความประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน

หากนับวันแรกที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมแล้วจะมีอายุ 49 ปี แต่หากนับตั้งแต่วันที่ตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) เปิดซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือน ก.ค.2505 เท่ากับตลาดทุนไทยมีอายุ 62 ปี นับเป็นเวลาชั่วชีวิตคนแล้วที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ทำหน้าที่ระดมทุนให้กับภาคธุรกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ต.ล.ท.) ได้วางแผนหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนในยุคดิจิทัล

แต่สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คือ การกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจจากเงินทุนของประชาชน ไม่ให้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายลักษณะการทุจริตคอร์รัปชัน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต.ยังประกาศพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นในลักษณะสร้างราคาทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน การผลักดันราคาต่อเนื่อง สลับขายทำกำไรระหว่างวัน

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าเป็นการบริหารจัดการบริษัทที่เข้าขายการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง การให้กู้ของบริษัทในเครือ การร่วมลงทุน การแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้บริหารหรือกรรมการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตรวจพบมากขึ้นต่อเนื่องและยังมีที่ตรวจไม่พบอีกมาก จึงไม่แปลกใจที่มีการเสนอความเห็นว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีสิ่งดึงดูดแล้ว ดังนั้นผู้ที่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับควรระลึกให้ดีว่าความเสียหายของบริษัทจดทะเบียนเป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่ต่างจากการฉ้อโกงประชาชน