ลงทุนยุคดอกเบี้ยขาลง

ลงทุนยุคดอกเบี้ยขาลง

ในช่วงดอกเบี้ยขาลง นักวิเคราะห์หลายๆค่ายแนะนำให้ลงทุนในอสังหา เนื่องจากมองว่าค่าเช่าไม่ได้ปรับตัวลดลงตามดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนจากค่าเช่าจะคงค้างอยู่ในอัตราที่สูง แต่เราต้องดูบริบทที่เปลี่ยนไป ถ้าเป็นสมัยก่อนที่อสังหา มีการสร้างขึ้นมาน้อย เวลาเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้พื้นที่มากขึ้น

การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา แม้จะทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แปลกใจ เพราะคาดว่าจะปรับลดในการประชุมครั้งหน้าเป็นอย่างเร็ว แต่ก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะเศรษฐกิจไทยแรงตก แผ่วไปเยอะในไตรมาสที่สาม และยิ่งมาประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสองระลอก และเป็นการท่วมที่รุนแรงและกระทบเขตเศรษฐกิจสำคัญ ของจังหวัด เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ และแม่สาย ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจในช่วงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี สาหัสทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เสียหาย และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้วก้จะสูงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐที่จะต้องนำมาเยียวยา ทั้งๆที่งบก็ปิดหีบไม่ลงอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยลงที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพของตัวเอง

ถ้าเปรียบประเทศเป็นคน เวลาเราเจ็บป่วย หรือเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน จนเราต้องนำเงินออมมาใช้เยียวยา แผนการลงทุนใหม่ต่างๆก็อาจจะต้องชะลอไปบ้าง

เพราะฉะนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็สมเหตุสมผลแล้ว

สำหรับผู้ลงทุนที่ถูกกระทบจากภัยพิบัติ หากต้องใช้เงินออมเพื่อการฟื้นฟู ก็สามารถนำมาใช้ก่อน เพราะเป็นเหตุฉุกเฉิน และให้กลับไปออมต่อเพื่อไม่ให้กระทบกับแผนระยะยาวค่ะ ขอแนะนำให้ท่านหาข้อมูลในการใช้สิทธิ์รับการเยียวยาจากภาครัฐด้วยนะคะ แม้จะไม่มาก แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเรา

ส่วนการบรรเทาผลกระทบอีกทางหนึ่งคือ อยากให้ท่านไปอ่านกรมธรรม์ประกันที่อยู่อาศัย หรือร้านค้า สำนักงานของท่าน ที่ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ ส่วนใหญ่มีประกันภัย และอาจจะมีข้อความที่ครอบคลุมภัยธรรมชาติอยู่ด้วย ท่านจะสามารถขอรับเงินชดเชยความเสียหายได้จากบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งอาจมีความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือการได้รับชดเชยเมื่อต้องหยุดประกอบการเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ลองสำรวจดูนะคะ อาจช่วยบรรเทาภาระของท่านไปได้บ้าง

หลายท่านกังวลว่า ในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป สภาวะการลงทุนจะเป็นอย่างไร และควรปรับพอร์ตอย่างไร

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ชะลอลง ทั้งจากความไม่สงบต่างๆ จากภัยพิบัติซึ่งปีนี้รุนแรงมากกว่าปกติ และอาจจะกลายเป็นความรุนแรงที่เป็นระดับปกติในอนาคต ซึ่งน่ากลัวมาก อยากให้ท่านวางแผนการลงทุนแบบระมัดระวังค่ะ (ซึ่งก็ระมัดระวังมาตลอดในช่วงครึ่งหลังของปี) แม้ในบางส่วนจะมีโอกาส แต่ก็มีความผันผวนแฝงอยู่มาก

ทองคำซึ่งราคาปรับพุ่งไปทำสถิติสูงสุด หรือ นิวไฮ ในปัจจุบันที่ราคา 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากการศึกษาทางเทคนิค ราคาทองคำติดแบนด์บนหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้น ระยะปานกลาง หรือในระยะยาว ดังนั้นโอกาสที่จะปรับตัวลงมีสูง ยกเว้นกรณีมีความกลัวสงครามเกิดขึ้นอย่างรุนแรงค่ะ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหุ้น เงินคริปโต ก็จะมีราคาตกลง ส่วนน้ำมันก็จะมีราคาสูงขึ้น

คริปโตเคอร์เรนซี อย่างบิทคอยน์ ที่ขึ้นไปสูงสุดระหว่างชั่วโมงทำการซื้อขาย เมื่อ 11 มีนาคม 2567 ที่ระดับ 74,383 ดอลลาร์ ก็ปรับลงมา ณ ปัจจุบัน เป็น 67,731 ดอลลาร์

แต่ถ้าไม่เกิดสงครามที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจโลกก็จะยังเดินหน้าต่อไปด้วยอัตราการเติบโตที่ลดลงจากเดิม ดังนั้น พอร์ตการลงทุนของท่านจึงไม่ควรจัดแบบมองโลกในแง่ดี และคาดหวังผลดีเต็มที่ ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังและรักษามูลค่าการลงทุนไว้ค่ะ

หลังจากไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายวันเดียว ทางธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักสามอัตราลง 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 3.25% มีผล 23 ตุลาคมนี้ โดยการลดครั้งนี้ เป็นครั้งที่สามของปี สาเหตุหลักมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาแสดงว่าเศรษฐกิจอ่อนแอ ทั้งนี้ตลาดคาดว่าการลดดอกเบี้ยของ ECB ยังไม่จบ อาจจะลดจนอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2% ในปลายปี 2568

ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 11 ครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากเดิมในอัตราใกล้ 0% ขึ้นไปเป็น 5.25% การลดดอกเบี้ยเพิ่งมีการประกาศลดครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2567 โดยลดลง 0.5% ซึ่งยังทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังอยู่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็ลดลงแล้ว และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็แผ่วลงถึงขั้นห่วงว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (การเติบโตติดลบ) แต่หลังจากการลดดอกเบี้ย นักเศรษฐศาสตร์จากสมาคมธนาคารสหรัฐประมาณว่าโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในปี 2568 ลดลงเหลือเพียง 30% 

ตอนนี้จึงเป็นยุคดอกเบี้ยขาลงของประเทศส่วนใหญ่ในโลก

ในช่วงดอกเบี้ยขาลง นักวิเคราะห์หลายๆค่ายก็แนะนำให้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่าค่าเช่าไม่ได้ปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนจากค่าเช่าจะคงค้างอยู่ในอัตราที่สูง แต่เราต้องดูบริบทที่เปลี่ยนไปนะคะ ถ้าเป็นสมัยก่อนที่อสังหาริมทรัพย์มีการสร้างขึ้นมาน้อย เวลาเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้พื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สำนักงาน และการสร้างใหม่ต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี การขาดแคลนอสังหาริมทรัพย์จึงเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ความต้องการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพื้นที่ที่มี

แต่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะตั้งแต่หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจต้องล้มหายตายจากไป และที่มีดำเนินการอยู่ก็ไม่ได้ขยายธุรกิจโดยการเพิ่มบุคลากร หรือพื้นที่สำนักงาน หรือแม้แต่พื้นที่ขายและแสดงสินค้ามากนัก เพราะการทำงานนอกสำนักงาน หรือทำงานจากบ้าน และการขายออนไลน์ ประชุมออนไลน์ เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความต้องการใช้พื้นที่แตกต่างไปจากช่วงเดิม ราคาเช่าพื้นที่ซึ่งลดลงไปในช่วงโควิด จึงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาค่าบริการอื่นๆ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากค่าเช่า (Rental Yield) ไม่ได้สูงเท่าที่ควรจะเป็นในกรณีที่เปรียบเทียบกับอดีต เมื่อธุรกิจฟื้นตัวหลังวิกฤติ และอัตราดอกเบี้ยลดลง ดังนั้นอัตราผลตอบแทนของค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบางกลุ่ม เช่น สำนักงาน หรือพื้นที่ค้าปลีกค้าส่ง จึงอาจไม่เป็นเสมือนอดีต

ท่านที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหน่อย ก็จะได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคา ส่วนท่านที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อครบกำหนด ท่านอาจต้องลงทุนใหม่ในอัตราผลตอบแทนที่ลดลง ก็ต้องทำใจค่ะ เพราะฉะนั้นถ้ายังสามารถซื้อตราสารหรือฝากเงินได้ในอัตราที่สูงอยู่ โดยพิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงของผู้ออกต่ำ ท่านก็ลงทุนได้ค่ะ

ครั้งหน้า จะแนะนำการจัดพอร์ตสำหรับปีหน้านะคะ