อุปสรรคบนเส้นทางการแก้ปัญหาโลกร้อน
แม้ความสำเร็จในการแก้ปัญหาโลกร้อนยังเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่สถานการณ์ดังกล่าวมิควรเป็นข้ออ้างให้ภาคธุรกิจชะลอการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และการแก้ไขปัญหาจะยากขึ้น
Copernicus Climate Change Service ของ EU รายงานว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ และอาจจะเป็นปีแรกที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับ ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่โลกต้องเผชิญ ในอีกหลายปีนับจากนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะพยายามอย่างหนักที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคมากมายที่ ซ่อนอยู่และพร้อมจะกลายเป็นภัยร้ายที่ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ตั้งไว้ ซึ่งวันนี้ผมขอหยิบยกอุปสรรคสำคัญบางประการที่ส่งผลให้การแก้ปัญหาโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะสะดุดลง
· ความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน นับเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้การดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถทำได้ทันที เนื่องจากหลายประเทศยังขาดแคลนเงินทุน ทรัพยากร และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่จำเป็น เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และแผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้การปรับตัวเพื่อลดโลกร้อนต้องชะลอออกไป อาทิ แซมเบียที่ในปีนี้ประสบปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
เนื่องจากภัยแล้งรุนแรงจนทำให้เขื่อน Kariba มีน้ำไม่เพียงพอผลิตกระแสไฟฟ้าจนหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งแม้รัฐบาลแซมเบียจะเรียกร้องให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ชาวแซมเบียจำนวนมากไม่มีเงินลงทุนติดตั้ง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกลับไปใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อจ่ายไฟให้โรงพยาบาลและอาคารอื่น ๆ เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับ สหราชอาณาจักร ซึ่งเคยตัดสินใจจะเลื่อนการใช้มาตรการห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเพียงอย่างเดียวออกไปจนถึงปี 2578 แทนที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2573 ตามแผนเดิม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
· ความไม่พร้อมของผู้ประกอบการ ส่งผลให้หลายประเทศพิจารณาเลื่อนหรือผ่อนผันการใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการ อย่างล่าสุด EU ได้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation : EUDR) ออกไปอีก 12 เดือน จากเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2567 ไปเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2568 สำหรับบริษัทหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และวันที่ 30 มิถุนายน 2569 สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใน EU เองและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมีเวลาเตรียมพร้อม หลังจากที่มีการเรียกร้องจากภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐหลายประเทศ
· ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจนำไปสู่ความไม่ชัดเจนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยหลายประเทศกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนการดูแลและช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ เช่น EU ที่การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งล่าสุดในปีนี้พบว่า พรรคฝ่ายขวาได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ซึ่งพรรคดังกล่าวเห็นว่า การใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดอาจกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจมากเกินไป
ขณะที่พรรคที่ชูประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับคะแนนน้อยลง จึงอาจมีผลให้การผ่านกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำได้ล่าช้า หรือบางมาตรการอาจถูกปรับให้อ่อนลงกระทั่งถูกยกเลิก นอกจากนี้ การกลับมาของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และมีแนวโน้มจะชะลอการสนับสนุนการลงทุน/ดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ตลอดจนอาจยกเลิกการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกลับไปสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล คาดว่าจะมีผลให้การแก้ปัญหาโลกร้อนของสหรัฐฯ ชะงักลง
แม้ความสำเร็จในการแก้ปัญหาโลกร้อนยังเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่สถานการณ์ดังกล่าวมิควรเป็นข้ออ้างให้ภาคธุรกิจชะลอการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และการแก้ไขปัญหาจะยากขึ้น โดย EXIM BANK พร้อมเป็นส่วนสำคัญในการขจัดเหตุแห่งความล่าช้า ในการแก้ปัญหา ทั้งสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท้ายที่สุด ผมขอย้ำว่าเวลาในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนกำลังนับถอยหลัง หากเราปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายจนถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (Point of No Return) จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน รวมถึงอนาคตของคนรุ่นหลัง เราจึงไม่อาจละเลยโอกาสที่จะร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลังได้อีกต่อไปแล้วครับ