2025 สมาชิกอาเซียนในยุคทรัมป์2 ใครได้ใครเสีย?
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากต่อการแข่งขันระดับยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน นโยบายของสหรัฐในครั้งนี้จะกระทบอาเซียนทุกประเทศอย่างแน่นอน แต่ในแง่บวกและลบต่อประเทศสมาชิกนั้นจะแตกต่างกันไป
สวัสดีปีใหม่ ค.ศ. 2025 จากสหรัฐอเมริกาครับ
แม้จะมีข่าวน่าสลดใจเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของปี เรื่องการก่อเหตุร้ายภายในสหรัฐอเมริกาที่เมือง New Orleans โดยทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เลื่อมใส ISIS ใช้รถกระบะขับลุยชนสังหารอย่างน้อย 14 ชีวิตในสถานที่และวันซึ่งมีคนมาชุมนุมเป็นจำนวนมากช่วงมีการกีฬาแข่งชิงแชมป์ระดับมหาวิทยาลัยในเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง และอีกกรณี ผู้ก่อเหตุก็เป็นทหารเช่นกัน ได้ฆ่าตัวตายโดยระเบิดรถกระบะ Tesla Cyber Truck ที่หน้าโรงแรมที่มียี่ห้อ Trump ในเมือง Las Vegas ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเชื่อมโยงบทบาทของ Elon Musk ที่เข้ามาสนับสนุนการเมืองฝ่ายขวา
การเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนของสหรัฐฯในวันที่ 3 มกราคมจะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ เนื่องจากความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกันอาจนำมาสู่ความวุ่นวายเช่นเดียวกับการเลือกประธานสภาผู้แทนครั้งที่แล้ว
วันที่ 9 มกราคมจะมีพิธีไว้อาลัยอดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ที่กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งจะทำให้บรรยากาศของความเป็นเอกภาพและความประนีประนอมในเมืองหลวงของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นและอาจช่วยกลบเกลื่อนความขัดแย้งบ้าง
หากไม่มีวิกฤตฉุกเฉิน เชื่อว่าพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกครั้งของโดนัลด์ ทรัมป์อีกครั้งในวันที่ 20 มกราคมนั้นจะไม่มีอุปสรรค และไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาธิปไตยแบบอเมริกันเสียภาพลักษณ์เหมือนคราวที่แล้ว
นโยบาย “อเมริกามาก่อน” ที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนในระหว่างการหาเสียง และสัญญาณในการเตรียมบุคลากรระดับสูงที่จะเข้ารับตำแหน่งยุทธศาสตร์ต่างๆในรัฐบาลชุดใหม่ก็ค่อนข้างแน่ใจว่า “ไม่เพียงอเมริกากำลังจะรื้อถอนบ้านของตนเอง แต่ระเบียบโลกในปัจจุบันจะถูกปฏิรูปอย่างแน่นอน” ส่วนจะออกมาเป็นลักษณะอย่างใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากต่อการแข่งขันระดับยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน นโยบายของสหรัฐในครั้งนี้จะกระทบอาเซียนทุกประเทศอย่างแน่นอน แต่ในแง่บวกและลบต่อประเทศสมาชิกนั้นจะแตกต่างกันไป
ความมั่นคงและเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะเห็นการฟื้นคืนสู่ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เคยปูทางไว้ตั้งแต่สมัยทรัมป์1
ทีมงานใกล้ชิดกับทรัมป์ส่งสัญญาณสม่ำเสมอว่าจะกดดันจีนอย่างรุนแรงทางด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการเพิ่มสมรรถนะและแผ่อิทธิพลขึ้นมาท้าทายความเป็นผู้นำในเวทีโลกของสหรัฐฯโดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์เช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฟิลิปปินส์และเวียดนามจะได้ประโยชน์โดยตรงกับนโยบายนี้ชัดเจนกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับจีนในเรื่องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ได้ตัดสินใจทิ้งความเป็นกลางและหันไปขยายและเสริมสร้างพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ในการกดดันจีนเรื่องความมั่นคง และบริเวณพิพาทและในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) แนวปะการังโทมัสที่ 2 แนวปะการังสการ์โบโร แนวปะการังซาบินา และเกาะปากาซา
เวียดนามซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯจะใช้วิธีการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ แต่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐซึ่งเห็นซึ่งต่อเนื่องจากการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเมื่อไม่นานมานี้ เวียดนามจะได้ประโยชน์จากบริษัทชาวตะวันตก และบริษัทชาวจีน ซึ่งโยกย้ายถิ่นฐานการผลิตจากจีนมาเวียดนามเพื่อมุ่งหวังตลาดในสหรัฐฯ
อินโดนีเซียและสิงคโปร์จะได้บ้างเสียบ้างและจะแสดงท่าทีเป็นกลางเพื่อรักษาความสมดุลย์ระหว่างความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯเนื่องจากทั้งสองประเทศมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ต้องอาศัยทั้งสองมหาอำนาจ อินโดนีเซียจะพยายามสานต่อการสร้างเศรษฐกิจให้โตเร็วและมีคุณภาพ ส่วนสิงคโปร์ก็จะใช้ความเป็นเจ้าภาพเชิญชวนผู้นำของประเทศมหาอำนาจมาพบปะเจรจากันอย่างเช่นกรณีของการประชุม Shangri-La Dialogue
ประเทศที่มีผู้นำเผด็จการอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา จะรู้สึกโล่งใจเพราะสหรัฐฯในยุคทรัมป์จะไม่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแต่จะเน้นการทำธุรกรรมที่มุ่งเน้นเฉพาะที่การบรรลุผลประโยชน์ของชาติสหรัฐฯ
ผู้เรียกร้องอธิปไตยทางทะเลรายอื่น ๆ เช่น บรูไนและมาเลเซีย ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เช่นกัน
แต่ในกรณีของมาเลเซียอาจมีประเด็นที่อาจนำมาสู่วิกฤติการเมืองภายในมาเลเซียได้คือ
การสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขันของทรัมป์ สวนทางกับกระแสชาวมุสลิมในมาเลเซียซึ่งสนับสนุนฮามาสและปาเลสไตน์ จับตามองบทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ (น่าสังเกตคือบรรยากาศการเมืองของมาเลเซียต่อการเมืองในตะวันออกกลางแตกต่างจาก บรูไนและอินโดนีเซีย)
ส่วนไทยซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯและพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาของความขัดแย้งของทั้งสองมหาอำนาจเนื่องจากมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงซึ่งกระทบโดยตรงจากความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนานกับจีน และประวัติศาสตร์ของการร่วมมือทางความมั่นคงกับสหรัฐฯต่อต้านการแพร่แพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น และมาถึงปัจจุบันซึ่งไทยผูกพันและพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับสองมหาอำนาจในระดับสูงสุด จะทำให้นโยบายของรัฐบาลไทยอยู่ในภาวะถูกบังคับให้พร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลาและไม่สามารถจะเลือกข้างได้
ปีค.ศ. 2025จะมีตัวแปรอีกหลายอย่างที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ในการวางแผนเศรษฐกิจระดับประเทศและการลงทุนส่วนบุคคล
เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจะเปลี่ยนโฉมของแทบทุกอุตสาหกรรมและการบริหารรัฐ ปัญญาประดิษฐ์ ai จะถูกนำมาใช้อย่างที่คนส่วนใหญ่เตรียมตัวไม่ทัน สภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะผลที่เกิดจากโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอาหาร การขนส่งและชีวิตความเป็นอยู่ โครงสร้างประชากรในประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจสูงจะเข้าสู่ภาวะสูงวัย ขาดคนวัยทำงานและภาระของการดูแลสุขภาพจะสูงขึ้น การแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบ ทั้งแร่ธาตุและพลังงาน ระหว่างประเทศต่างๆจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
ภูมิรัฐศาสตร์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยเฉียบพลันและอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำของประเทศที่มีความขัดแย้งและความล่อแหลมระดับสูงในปัจจุบัน เช่น รัสเซีย ยูเครน อิสราเอล อิหร่าน จีน เกาหลีเหนือ หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
เรามาช่วยกันภาวนาและส่งพลังบวกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้นั้นจะนำมาสู่สันติภาพและความปรองดองกันมากกว่าปี 2024 ครับ