อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT)

GMT ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบภาษีอากรเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ในการยกระดับกลยุทธ์ทางการเงินและภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ช่วยลดความเสี่ยง เสริมสร้างความโปร่งใส เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

อัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (GMT) เป็นการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศครั้งสำคัญ ภายใต้ข้อกำหนดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNCs) ต้องชำระภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15% (อัตราภาษีที่แท้จริง หรือ Effective Tax Rate: ETR) ในทุกประเทศที่ดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ ไม่มีภาระภาษี หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แก้ไขการแข่งขันด้านภาษีที่ไม่เป็นธรรม ลดการโยกย้ายกำไร และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน โปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น

GMT มีผลบังคับใช้กับ MNCs ขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอย่างน้อยสองประเทศ และมีรายได้รวมในงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโรต่อปี ในช่วงอย่างน้อยสองในสี่รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้า

MNCs ขนาดใหญ่ที่ควรตระหนักถึงผลกระทบของ GMT มีสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม MNCs ที่มีสำนักงานใหญ่หรือฐานธุรกิจหลักในประเทศไทย และมีการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ และกลุ่ม MNCs ที่มีสำนักงานใหญ่หรือฐานธุรกิจหลักในต่างประเทศ และเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

GMT ในประเทศไทยมีผลใช้บังคับ 1 มกราคม 2568 

ประเทศไทยได้ประกาศใช้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำดังนี้:

1. กฎการเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศเป็นไปตามเกณฑ์ (Qualified Domestic Minimum Top-Up Tax - QDMTT) กำหนดให้กลุ่ม MNCs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมี ETR ต่ำกว่า 15% ต้องชำระภาษีส่วนเพิ่มในประเทศไทยก่อนที่ประเทศอื่นจะเรียกเก็บ

2. กฎการรวมรายได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Income Inclusion Rule - IIR) นิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด นิติบุคคลแม่ลำดับกลาง และ นิติบุคคลแม่ที่บุคคลอื่นเป็นเจ้าของบางส่วน ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่มจากรายได้ของบริษัทในกลุ่มที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มี ETR ต่ำกว่า 15% เพื่อลดช่องว่างทางภาษีจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ

3. กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือที่เป็นไปตามเกณฑ์ (Undertaxed Payment Rule – UTPR) ) บริษัทในประเทศไทยต้องชำระภาษีส่วนเพิ่ม ในกรณีที่ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำไม่สามารถจัดเก็บภาษีขั้นต่ำได้ครบตามอัตรา 15% ตามสองหลักเกณฑ์แรกที่กล่าวมาแล้ว

นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ 3 ประการข้างต้น ประเทศไทยได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อเข้าร่วมอนุสัญญาพหุภาคีเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ Subject to Tax Rule (STTR MLI) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 อันเป็นส่วนหนึ่งของ OECD Pillar Two Framework โดยอนุญาตให้ประเทศแหล่งเงินได้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากการชำระเงินภายในกลุ่มบริษัทบางประเภทได้ เช่น ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และค่าบริการ ที่ถูกเก็บภาษีในประเทศแหล่งเงินได้ในอัตราต่ำกว่า 9% STTR MLI เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบูรณาการกฎเกณฑ์ STTR เข้ากับอนุสัญญาภาษีแบบทวิภาคีที่มีอยู่เดิมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเจรจาใหม่กับแต่ละประเทศ

MNCs และแนวทางการเตรียมความพร้อมก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงด้านภาษี

MNCs ขนาดใหญ่ที่ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ควรทำความเข้าใจผลกระทบและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบ โดยมีแนวทางเพื่อพิจารณาดังต่อไปนี้:

  • วิเคราะห์และประเมินผลกระทบของกฎระเบียบใหม่ สำหรับธุรกิจทั้งองค์กร พร้อมประเมิน ETR ในแต่ละประเทศ เพื่อช่วยวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
  • เตรียมความพร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดและตรวจสอบระบบบัญชี เพื่อรองรับการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่จำเป็น การเริ่มต้นล่วงหน้าพร้อมความเข้าใจที่ชัดเจนในผลกระทบของ GMT จะช่วยปรับปรุงระบบภายใน เพื่อ รองรับการรายงาน การยื่นแบบ และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  • วิเคราะห์ความพร้อมของบริษัทในกลุ่ม ที่อาจต้องชำระภาษีส่วนเพิ่ม และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
  • ปรับกลยุทธ์ด้านภาษีให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ วางแผนบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และพัฒนาแนวทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
  • ศึกษาแนวทางการตอบสนองของประเทศต่างๆ ในการนำกฎเกณฑ์การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มมาใช้ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในเงื่อนเวลาการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อประมาณการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามข้อกำหนด GMT

GMT ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบภาษีอากรเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ในการยกระดับกลยุทธ์ทางการเงินและภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ช่วยลดความเสี่ยง เสริมสร้างความโปร่งใส เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ