สร้างกันชนทางการเงิน รับมือทุกแรงสั่นสะเทือน

การอาศัยมาตรการทางการเงินของภาครัฐหรือธนาคารเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ต้องควบคู่ไปกับการยกระดับความรู้ทางการเงินของประชาชนอย่างจริงจัง ทั้งการบริหารรายรับ-รายจ่าย การวางแผนออมเงิน และการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นเป็นสิ่งสำคัญ

สวัสดีครับ

ก้าวเข้าสู่เดือนเมษายนอันร้อนระอุ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในเมียนมาที่สะเทือนถึงไทย และแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังสหรัฐอเมริกาจะจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ ปัจจัยเหล่านี้ดูเหมือนจะซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ ประเด็นที่มีอยู่ก่อนแล้วให้น่ากังวลกว่าเดิม “หนี้ครัวเรือน” คือหนึ่งในปัญหานั้นครับ ล่าสุด ณ สิ้นปี 2567 หนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึงกว่าร้อยละ 88.4 ของจีดีพี แม้ตัวเลขจะปรับตัวลดลงจากปี 2566 ที่ร้อยละ 90.9 ของจีดีพี แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมสดใสขึ้นนัก เพราะหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและกำลังบั่นทอนความสามารถในการจับจ่ายของภาคครัวเรือนตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ปัญหานี้ยังฉายภาพให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาด “กันชน” (Buffer) เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยที่กระทบต่อรายได้ในอนาคต (Income Shocks) เห็นได้ชัดที่สุดคือวิกฤติโควิดที่ได้ผ่านไป

นอกจากนี้ วิกฤติโควิดยังได้สร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจไว้ให้ครัวเรือนไม่น้อย การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและสามารถช่วยแก้หนี้ได้อย่างได้ผลที่สุดคือการ "ใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้" โดยเราได้เห็นภาครัฐและเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ผ่านการออกทั้งมาตรการชั่วคราวและระยะยาว อาทิ “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” นอกจากนี้ เรายังเห็นความร่วมมือผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SME ที่ครอบคลุมสองแนวทางหลักทั้งการลดค่างวดและพักดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่เพียงแต่แก้ยาก แต่ยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อย ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้น่าสนใจครับ กลุ่มคนวัยเริ่มทำงานหรือกลุ่มคนช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปีกว่าร้อยละ 58 เริ่มเป็นหนี้ และกว่าร้อยละ 25 กลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่กว่าร้อยละ 30 ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลนั้น พบว่า มีหนี้มากกว่า 4 บัญชีต่อคน โดยมีมูลค่าหนี้รวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ต่อเดือน ซึ่งระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 5-12 เท่าของเงินเดือน ดังนั้น ประเด็นเรื่องการมีหนี้เกินกว่าความสามารถชำระไหวกำลังกัดกร่อนศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ 

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้รายงานว่าภาคประชาชนกว่า 9.59 ล้านบัญชีมีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วันขึ้นไป คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 ล้านล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2567 นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในระบบการเงินบ้านเรามีคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี​ ที่น่าจะพอยื่นกู้ได้เพียงร้อยละ 25 หมายความว่าหากยื่นกู้ 100 คน มีแค่ 25 คนที่อาจจะกู้ผ่าน โดยหลักแล้ว คนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้หลายอย่าง ทั้งบัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ตัวเลขนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะที่กล่าวมาเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่นำไปสร้างรายได้ (Non-Productive Loan) จนหลายคนต้องหันไปพึ่งพาแหล่งทุนนอกระบบ

เมื่อมีความต้องการเพิ่มสภาพคล่อง การกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัญหาจะตามมาเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเมื่อคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้เศรษฐกิจไทยอาจโตไม่ถึงร้อยละ 3 รวมถึงปัจจัยเชิงลบที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเป็นสังคมผู้สูงอายุจากอัตราการเกิดที่ลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง รวมถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งสัญญาณว่าภาคครัวเรือนไทยมีแนวโน้ม “ซึมยาว” ไปอีกหลายไตรมาสจากการขาดเงินสำรองที่เพียงพอและอาจต้องก่อหนี้เพื่อประคับประคองชีวิตต่อไปเป็นวังวนไม่รู้จบ ถ้าประชาชนในประเทศอ่อนแอแล้ว แน่นอนว่า ธุรกิจ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ย่อมอ่อนแอตามไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การอาศัยมาตรการทางการเงินของภาครัฐหรือธนาคารเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ต้องควบคู่ไปกับการยกระดับความรู้ทางการเงินของประชาชนอย่างจริงจัง ทั้งการบริหารรายรับ-รายจ่าย การวางแผนออมเงิน และการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโครงการอบรมด้านการเงินที่เข้าถึงง่าย เช่น หลักสูตรหรือการอบรมสำหรับกลุ่มเยาวชนรวมถึงกลุ่มคนรายได้จำกัด และที่สำคัญต้องไม่ลืมให้การช่วยเหลือภาคธุรกิจ SME ให้สามารถไปต่อได้ 

ท้ายที่สุด การแก้ไขที่ “ได้ผล” และ “ยั่งยืน” อย่างแท้จริง นั่นคือการกลับมาที่พื้นฐานของ “การเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย” ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ต้องพัฒนาระบบการศึกษาอบรม ขับเคลื่อนนวัตกรรม สนับสนุนนโยบายสร้างงาน เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และยกระดับค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ขณะที่ภาคเอกชนที่สามารถช่วยเหลือผ่านการเพิ่มสวัสดิการพนักงานหรือให้โอกาสในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ รวมถึงภาคประชาชนเองที่ต้องปรับพฤติกรรมทางการเงินและสร้างวินัยในการออมเงิน ถึงวันนี้เราต้องสู้ไปด้วยกันครับ หากประชาชนสามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรหนี้ไปได้ เราทุกคนจึงจะพร้อมรับมือกับทุกวิกฤติที่จะผ่านเข้ามาในอนาคตครับ