ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ-ค่าเงินบาท และตลาดหุ้น
ประเด็นทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าจะวนเวียนอยู่กับ 3-4 เรื่องคือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นทั่วโลก ทุกประเทศต่างก็ประสบกับปัญหาซึ่งเริ่มต้นจากราคาพลังงาน
โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้นแรงอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้รัสเซียลดการส่งให้กับยุโรปอย่างกระทันหัน ผสมกับการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฟื้นตัวขึ้นแรงหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในขณะที่กำลังการผลิตของโลกไม่ได้ปรับตัวขึ้นมานาน
อย่างไรก็ตาม “ภาพใหญ่” ของเรื่องเงินเฟ้อก็คือ เศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตร้อนแรงเกินไปทำให้การผลิตตามไม่ทัน การแก้ไขก็คือ ต้องลดอัตราเงินเฟ้อลงอย่างรีบด่วน
วิธีการก็คือ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางหรือเฟดที่อยู่ในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องมายาวนานน่าจะเป็น 10 ปี หลังวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในอัตราบางช่วงที่ 1% หรือต่ำกว่านั้น ให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง อาจจะเหลือไม่เกิน 2-3% ต่อปี ซึ่งเป็น “อัตราปกติ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจโตแบบมีเสถียรภาพ
โดยที่อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะทยอยปรับขึ้นไปเรื่อยๆ นั้น ก็มองกันว่าจะไปถึงประมาณ 4-5% ภายในสิ้นปีนี้ และสิ้นปีหน้า จากอัตราปัจจุบันที่ 3-3.25% และนั่นก็คือ “อัตราดอกเบี้ยปกติ” ของสหรัฐที่เคยเป็นมายาวนานก่อนหน้าที่จะลดลงจนเหลือ 1-2% ช่วงหลังซับไพร์มที่เป็นอัตราที่ “ผิดปกติ”
สรุปก็คือ สหรัฐกำลังพยายามนำพาประเทศกลับสู่ “สภาวะปกติ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและเดินหน้าเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวที่เศรษฐกิจอาจจะโตต่อไปเรื่อยๆ ในอัตราประมาณซัก 3% ต่อปี แต่ผลกระทบในระยะสั้นก็คือ เศรษฐกิจในช่วงนี้ที่โตเร็วเกินไปจะต้องลดลง คือปีหน้าอาจจะติดลบเล็กน้อย เป็น “Soft Landing”
ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยลงทำให้ตลาดหุ้นที่เฟื่องฟูมากเกินไป และปรับตัวขึ้นเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์หลังโควิด-19 ตกลงมาอย่างแรง และถึงวันนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อย่าง S&P 500 ก็ตกลงมาเกิน 20% นับจากต้นปี ไม่ต้องพูดถึงดัชนีแนสแด็กที่ตกลงมากว่า 30% เป็นวิกฤติตลาดหุ้นไปแล้ว
ผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและรุนแรงมากก็คือ ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างมากเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นๆ ทั้งโลก คือแข็งขึ้นประมาณ 18% ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษและค่าเงินเยนของญี่ปุ่นลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ถึงประมาณ 20% นับจากต้นปี
ค่าเงินยูโรตกลงมา 15% เช่นเดียวกับเงินวอนของเกาหลีใต้ที่อยู่ในกลุ่มของประเทศเจริญแล้วที่ตกลงมา 16% ในขณะที่เงินบาทและเงินในกลุ่มประเทศเอเชียอื่น ๆ ตกลงมาในระดับประมาณ 12% เทียบกับดอลลาร์
เนื่องจากสหรัฐเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเงินดอลลาร์เป็นเงินที่ถูกใช้ทั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้น จึงเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย และก็เช่นกัน เมื่อสหรัฐปรับนโยบายทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง เกือบทุกประเทศก็ต้องปรับตาม มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาการไหลออกของเงินดอลลาร์ซึ่งจะทำให้เงินสำรองของประเทศมีปัญหา
ผลก็คือ เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังเติบโตเร็วที่ต้องอิงกับประเทศพัฒนาแล้วต่างก็มีปัญหาแบบเดียวกับสหรัฐ คือเศรษฐกิจกำลังจะถดถอยลงและตลาดหุ้นตกลงอย่างหนัก ในขณะที่ประเทศกำลังกำหนดนโยบายทางการเงินให้ “กลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นั่นคือ ต่อต้านเงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงที่คิดว่าจะเป็น “อัตราดอกเบี้ยปกติ” ที่เหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวของตนเอง
ส่วนเรื่องค่าเงินนั้นก็เป็นไปตาม “กลไกตลาด” สำหรับประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กำหนดอัตราคงที่ตามเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องของค่าเงินอาจจะไม่ได้มีปัญหามากอย่างที่คนอาจจะคิด เหตุผลก็คือค่าเงินของประเทศต่างๆนั้น อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะเดียวกันและมีการค้าขายกันมาก ที่อาจจะเป็นปัญหาก็คือ สหรัฐประเทศเดียวที่ค่าเงินแข็งมาก
ในส่วนของเงินบาทนั้น โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นนอกจากสหรัฐเราก็อยู่กลางๆ ไม่อ่อน ไม่แข็ง ดังนั้นคนที่ส่งออกก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก เช่นเดียวกับผู้นำเข้าเองก็อาจจะไม่ได้ลำบากอะไรในการซื้อ-ขายสินค้า โดยรวมแล้ว ดุลการค้าของประเทศก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นแม้ว่าเงินบาทจะอ่อนลงถึงกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นี่ก็อาจจะไม่เหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ค่าเงินบาท “อ่อนจริง” เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ค้าขายด้วย ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้นมากหลังวิกฤติ
สิ่งที่ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างมีนัยสำคัญช่วงนี้นั้น น่าจะอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของเรายังติดลบอยู่เมื่อเทียบกับสถานะก่อนโควิด-19 เราเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวในขณะที่ประเทศอื่นฟื้นตัวและเติบโตไปสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว
ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราก็มีเงินเฟ้อสูงมากในช่วงราคาพลังงานปรับตัวขึ้นแรง แต่อีกระยะหนึ่งมันก็คงปรับตัวลงเมื่อราคาพลังงานเริ่มลดลงซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อลดลงโดยอัตโนมัติ ดังนั้น เราจึงแทบไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ไม่ถึง 1% นั้นก็ยังต่ำเกินไป เราจึงต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้างเพื่อนำไปสู่ “อัตราปกติ” ที่เหมาะสมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่จะโตช้าลงมากเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งอาจจะเป็นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2-3% ต่อปี
และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมแบงก์ชาติจึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับสหรัฐหรือเวียดนามที่เป็นเศรษฐกิจที่จะโตเร็วกว่าไทยมาก และนี่ก็อาจจะเป็นแบบเดียวกับญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจโตช้ามานานมากและจะช้าต่อไปในอนาคตที่แทบจะไม่ปรับดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นเลยแม้ว่าอัตราที่เป็นอยู่ใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ต่อปีมานาน
ประเด็นสุดท้ายก็คือเรื่องของตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีตกลงมาน้อยมากประมาณแค่ 4% นับจากต้นปีเทียบกับระดับ 20% ของประเทศที่ตลาดหุ้นโตเร็วมากก่อนหน้านี้ เหตุผลนั้นคงเป็นว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยก่อนหน้านั้นไม่ได้เติบโตหรือโตช้ามาก โดยเฉพาะปัญหาจากโควิดซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก
และหลังจากนั้นเราก็อยู่ในช่วง Turnaround หรือช่วงฟื้นตัวโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่จะกลับมาแรงและเร็วหลังโควิด-19 จบลง ดังนั้น หุ้นจึงไม่ตกลงมาก และผมคิดว่าหากไม่ได้มีปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ป่านนี้หุ้นไทยก็อาจจะปรับตัวขึ้นเหนือจุดสูงสุดเดิมไปแล้ว
นอกจากหุ้นไทยที่ตกลงมาไม่มากแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศที่ไม่ได้ขึ้นมามากในช่วงโควิด เช่น ตลาดหุ้นอังกฤษหรือญี่ปุ่นเองนั้น ในช่วงปีนี้ดัชนีหุ้นก็ไม่ได้ตกลงมากคือไม่เกิน 10% ดังนั้นข้อสรุปของผมก็คือ การปรับนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ ในช่วงนี้เป็นเรื่องของการปรับให้กลับมาสู่ภาวะปกติที่ควรเป็นของแต่ละประเทศ
โดยที่ประเทศไทยเองนั้น ภาวะปกติของเราอาจจะเป็นการที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำตลอดไปคล้ายๆของญี่ปุ่น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงอย่างถาวรเพราะประชากรแก่ตัวลงและขาดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และดังนั้น หุ้นจึงไม่สามารถปรับตัวขึ้นให้ผลตอบแทนที่ดีมากได้ในระยะยาวแต่ก็ไม่ตกลงมาแรงอย่างประเทศที่ยังเติบโตดีทั้งหลาย