มองอดีตเทียบปัจจุบัน SET Index ภายใต้วิกฤติศรัทธา เป็นโอกาสหรือความเสี่ยงของการลงทุน
ปี 2023 เป็นหนึ่งในปีที่พลิกผันโดยเฉพาะกับนักลงทุนไทย เหตุผลสำคัญคงไม่พ้นการที่ SET Index กลับเป็นขาลง ตั้งแต่ต้นปีสวนทางกับที่ฟื้นตัวดีในปี 2022 หลายท่านตั้งความหวังว่าตลาดน่าจะหาทางออกได้หลังการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็กลับเป็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นในตลาดมากขึ้นไปอีก
ดัชนีที่คาดว่าจะไปถึง 1,800 กลับปรับตัวลงหลุด 1,500 แม้แต่นักลงทุนรายย่อยไทยที่มักเข้ามาช้อนซื้อเมื่อตลาดปรับฐานยังตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าครั้งนี้คือโอกาสหรือความเสี่ยงกันแน่
ในมุมมองของนักกลยุทธ์การลงทุน “การปรับฐานจะเป็นโอกาส” ก็ต่อเมื่อเรารู้ทันว่าความเร็ว ความรุนแรง หรือเหตุผลของตลาดผิดปกติ ผมจึงได้ทำการวิเคราะห์สถิติย้อนหลังของ SET Index กลับไป 30ปี ให้นักลงทุนได้เปรียบเทียบอดีต กับปัจจุบัน เพื่อมองอนาคตไปพร้อมกัน
ประเด็นแรกที่ต้องรู้ คือการปรับฐานรอบนี้ไม่ได้ “รุนแรงมาก” อย่างที่นักลงทุนรู้สึก
แม้ดัชนีระดับ 1500 อาจไม่คุ้นสายตา เพราะถ้าไม่นับช่วงโควิด ต้องย้อนกลับไปไกลถึงไตรมาสสามปี 2016 แต่เทียบความแรงจากต้นปี หรือวันเลือกตั้ง ไปถึงจุดต่ำสุด 1466 ในวันที่ 28 มิ.ย. จะคิดเป็นเพียง -5% และ -11% ตามลำดับ
เปรียบเทียบกับการปรับฐานในอดีตส่วนใหญ่ดัชนีมักใกล้จุดต่ำสุดจริงก็ต่อเมื่อปรับลงเฉลี่ยราว 25-30% หมายความว่า ครั้งนี้แม้อาจดูแย่แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในสามของคำว่าวิกฤติเท่านั้น
ประเด็นที่สองคือ “ระยะเวลา” ปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว
ไม่ใช่แค่เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังคงอยู่ไปอีกซักระยะ แต่จากสถิติการปรับฐานของ SET Index โดยเฉลี่ยมักกินเวลาราว 125วัน หรือราว 4เดือน สถานการณ์ “ลงเร็วจบเร็ว” มักเกิดขึ้นแค่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาช่วยเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น แม้นักลงทุนไทยจะรู้สึกว่าช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ผ่านไปช้าเหลือเกิน แต่อาจเกิดจากเราจดจ่อกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากเกินไป เนื่องจากเพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่เรารอคอยมานาน
ประเด็นสุดท้ายคือ “ปัจจัยพื้นฐาน” จุดสำคัญที่มักกำหนดความแรงของการปรับฐานสำหรับ SET Index มักมาจาก Earning มากกว่าระดับ Valuation
โดยทั่วไปการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก มักเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียน (Earning) ปรับตัวลง พร้อมกับความกังวลกดดันให้นักลงทุนต้องขายหุ้นที่ไม่มีกำไรหรือ P/E สูงทิ้งออกมาพร้อมกันที่ให้มูลค่า (Valuation) ของตลาดปรับตัวลงด้วย
เมื่อผสม Earning และ Valuation ที่ปรับตัวลงพร้อมกัน ตลาดจะปรับฐานอย่างรุนแรง
แต่สำหรับ SET Index ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอดีต ระดับ P/E ของตลาดมักอยู่ในระดับ 15-22 เท่า ต่อให้ช่วงวิกฤต P/E ของตลาดโดยเฉลี่ยก็มักปรับตัวลงมาอยู่ขอบล่าง 15-16เท่า หมายความว่า “วิกฤติศรัทธา” เกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ตลาดจะถึงกับสิ้นหวัง
ในทางกลับกันการปรับตัวลงครั้งใหญ่ของ SET Index มักเกิดจาก “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่มี รายได้ลดลงเป็นหัวใจหลักของระดับการปรับฐาน และไม่ใช่ทุกครั้งที่มูลค่าจะปรับตัวลงพร้อมกัน
ในรอบนี้ ผมเชื่อว่าตลาดกำลังพบกับวิกฤตศรัทธา แม้จะเร็วเกินไปที่จะชี้ได้ว่าจุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว แต่ถึงต่ำกว่านี้ได้ ก็อาจไม่ลึก
สมมุติฐานหลัก คือรายได้ทรงตัวจากปีก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียเร่งตัวช่วงครึ่งปีหลัง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัวจากปีก่อน แม้การเมืองจะกระทบความเชื่อมั่นและกด Valuation ของตลาด แต่ตลาดจะมองไปที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่แค่เลื่อนไม่ใช่เลิก
กรณีเลวร้าย SET Index อาจลงมาทดสอบระดับ 1,400 จุด หรือ มี downside risks อีก 7-10% ภายใน 4เดือน ไปสิ้นสุดขาลงในช่วงเดือน ต.ค. 2023 สอดคล้องกับช่วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาล
กลยุทธ์รู้ทันการลงทุน เน้นไปที่ Defensive Growth ลงทุนในหุ้นที่รายได้เติบโตสูงแต่ราคาไม่เคลื่อนไหวอิงดัชนี เช่น SCGP หุ้น Global Play รับผลบวกจากความต้องการของบรรจุภัณฑ์การส่งออกในอาเซียนที่ฟื้นตัว KCE หุ้นส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ที่ภาพรวมกำไรผ่านจุดต่ำสุด ยอดคำสั่งซื้อกลับมาคึกคัก และ BEM แม้จะเป็นหุ้นกลุ่มการเมืองแต่รายได้ผันผวนต่ำ เน้นลงทุนไว้รอรับความชัดเจนทางการเมือง