รู้จักกับดัชนีใหม่ ดัชนีสะท้อนฟรีโฟลต (Free Float Adjusted Index)
หากอยากทราบว่าวันนี้ตลาดขึ้นหรือลง ข้อมูลที่เราจะนำมาพิจารณาเพื่อเป็นตัวแทนสะท้อนตลาดโดยรวมก็คือ การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักหลักทรัพย์ หรือ SET Index โดยดัชนี SET Index นั้น คำนวณมาจากราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์หรือเรียกว่าเป็นดัชนีประเภท Composite Index
นอกจากนี้ ยังมีดัชนีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นกลุ่ม Blue chip หรือหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง 50 อันดับแรก ซึ่งก็คือ ดัชนี SET50 รวมทั้งยังมีดัชนี SET100 ที่คำนวณมาจากการเคลื่อนไหวราคาของหุ้นขนาดใหญ่ 100 ลำดับแรก
การจะเลือกพิจารณาใช้ดัชนีนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับว่าพอร์ตลงทุนที่มีนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับหุ้นกลุ่มที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีใด ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ภาพการเคลื่อนไหวของตัวแทนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม สำหรับตลาดทุนไทยนั้น เนื่องจากสภาพการซื้อขายของกลุ่มหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องใน 50 และ 100 ลำดับแรกนั้น อยู่ที่ประมาณ 59% และ 74% ของมูลค่าการซื้อขายโดยรวมของตลาดตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มีนัยสำคัญ
ดังนั้น ตราสารการลงทุนที่มีการอ้างอิงดัชนี เช่น Futures หรือ Derivatives Warrants หรือกองทุนอีทีเอฟ จึงนิยมจะอ้างอิงกับดัชนี SET50 และ SET100 เป็นหลัก เพราะสามารถจัดการลงทุนได้ง่ายและสะดวกกว่า อย่างไรก็ตาม หากพอร์ตลงทุนนั้นมีการลงทุนในหุ้นที่มากกว่ากลุ่ม SET100 ก็อาจจะใช้ดัชนี SET Index ในการอ้างอิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ในการคำนวณดัชนีหุ้นที่เป็น SET Index series นั้น หลักการคือ การนำมูลค่าตลาดของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีในวันปัจจุบันเทียบกับวันฐาน ทั้งนี้ มูลค่าตลาดนั้นจะคำนวณมาจากราคาตลาดของหุ้นและถ่วงน้ำหนักด้วยขนาดซึ่งก็คือ Market Capitalization ซึ่งโดยนัยจะมีผลให้การเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นที่มีขนาดใหญ่ หรือมี Market Capitalization สูง จะมีผลต่อดัชนีมากกว่าหุ้นที่มีขนาดเล็ก หรือมี Market Capitalization ต่ำ
ซึ่งวิธีการคำนวณดัชนีแบบนี้เรียกว่า Market Capitalization Weight Index ซึ่งเป็นแนวทางการคำนวณดัชนีแบบสากลและเป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ และสามารถสะท้อนการเติบโตของตลาดได้ดี เนื่องจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่มักจะเป็นตัวแทนที่ดีของภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศนั้นๆ และในการทำศึกษาวิจัย ก็มักจะใช้ดัชนีประเภทนี้เป็นตัวแทนของข้อมูลในการทำการศึกษา
อย่างไรก็ดี ดัชนีประเภทดังกล่าวนั้น ก็มีข้อจำกัดบางอย่างในการใช้งาน กล่าวคือ ในการสร้างพอร์ตลงทุนนั้น นอกจากขนาดของบริษัทแล้ว อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความยากง่ายในการซื้อหุ้นที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีเพื่อสร้างพอร์ตลงทุน หรือ Investable หรือพูดง่ายๆ ว่าลงทุนได้จริง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่จะสามารถใช้สะท้อนความยากง่ายในการซื้อหุ้น คือ สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) กล่าวคือ หุ้นนั้นๆ มีผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของบริษัทมากน้อยเพียงใด
โดยแนวคิดนี้มาจากผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารงานของบริษัท เช่น ผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่และบุคคลในครอบครัว หรือกรรมการของบริษัท บริษัทในเครือ มักจะไม่ขายหุ้นดังกล่าวออกมาหากไม่จำเป็น ดังนั้น หากบริษัทใดมีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากหรือค่า Free Float สูง ก็มีนัยว่าเป็นหุ้นที่สามารถซื้อขายลงทุนได้จริง ดังนั้น ในระยะหลังนี้ ผู้จัดทำดัชนีจึงมีการพัฒนาดัชนีที่นำข้อมูล Free Float มาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญของหุ้นในดัชนีร่วมกับการพิจารณาขนาดของบริษัท โดยดัชนีประเภทนี้คือ Free Float Adjusted Market Capitalization
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนที่จะจัดทำและเผยแพร่ดัชนีแบบ Free Float Adjusted Market Capitalization สำหรับ SET50 และ SET100 โดยจะจัดทำเพิ่มเป็นดัชนีใหม่ควบคู่ไปกับดัชนีเดิม และใช้หลักการคัดเลือกรายชื่อหุ้นที่เป็นองค์ประกอบแบบเดียวกันกับดัชนี SET50 และ SET100 ในปัจจุบัน หากแต่จะนำสัดส่วนของ ผู้ถือหุ้นรายย่อยมาคำนวณน้ำหนักของหุ้นนั้นๆ ร่วมกับขนาดของหุ้นด้วย ทำให้ดัชนีใหม่จะสามารถสะท้อนภาพการลงทุนของหุ้นในกลุ่ม SET50 และ SET100 ได้ดีขึ้น เพราะคำนึงถึงสภาพความเป็นไปได้ในการลงทุนซึ่งสะท้อนมาจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยของแต่ละหุ้นด้วย
แม้ว่าดัชนีใหม่จะมีองค์ประกอบของหุ้นในดัชนีเหมือนดัชนี SET50 และ SET100 แต่น้ำหนักของหุ้นแต่ละหุ้นในดัชนีจะแตกต่างกันไปตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยของหุ้นนั้นๆ ดังนั้น ผลตอบแทนของดัชนี Free Float Adjusted จะแตกต่างจากดัชนีเดิมที่การเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเดิมมีผลกระทบต่อดัชนีมาก ก็จะเปลี่ยนเป็นขึ้นกับทั้งขนาดและสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย กล่าวคือ หากมีขนาดใหญ่แต่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อย น้ำหนักของหุ้นในดัชนีก็จะลดลงเมื่อเทียบกับวิธีการคำนวณดัชนีแบบเดิม
ดัชนีใหม่แบบ Free Float Adjusted นี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ใช้งานดัชนีให้เลือกใช้ได้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ลงทุนที่ใช้งานดัชนีก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจความหมายและความแตกต่างของดัชนีแต่ละประเภท เพื่อที่จะได้เข้าใจภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลักทรัพย์ได้ถูกต้อง ทั้งนี้ในรายละเอียดของหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีใหม่นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการเผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ www.set.or.th ต่อไป