“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”

“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”

“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ” ในมาตรการ “ป้อง – ปราม – ปราบ” เป็น 3 คำที่ครอบคลุมการทำงานของ ก.ล.ต. ใน “โครงการผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียน และ stakeholders ในตลาดทุนทุกกลุ่ม

สวัสดีครับ! ในโอกาสที่พบกันครั้งแรกในช่วงต้นปี 2567 ต้องขอ “สวัสดีปีใหม่” อย่างเป็นทางการ และขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกท่านนะครับ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่เป็น “ประเด็นร้อน” ทั้งในตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ลงทุน และหลายครั้งทำให้มีคำถามถึงการทำหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

หลายคำถามที่สามารถตอบหรือให้ข้อมูลได้ เรามีแนวทางที่จะสื่อสารกับผู้ลงทุนและประชาชนให้ได้มากที่สุด ผ่านการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร การให้ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข่าว บทความ คลิปวิดีโอ และอินโฟกราฟฟิก แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอาจไม่สามารถให้ข้อมูลหรือรายละเอียดได้มากนัก แต่ขอให้เชื่อมั่นว่า พวกเรา “ชาว ก.ล.ต.” จะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และขอให้ติดตามการดำเนินการของ ก.ล.ต. ต่อไป เพื่อให้เห็นว่า “ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ” ได้อย่างไรบ้าง

อย่างแรกที่หลายท่านน่าจะเคยได้ยินกันมาแล้ว คือ มาตรการ “ป้อง – ปราม – ปราบ” ซึ่งเป็น 3 คำที่ครอบคลุมการทำงานของ ก.ล.ต. ใน “โครงการผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียน และ stakeholders ในตลาดทุนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้าง Trust and Confidence ในตลาดทุนไทย

ป้องกัน 

เริ่มตั้งแต่การทบทวนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการปรับปรุงและทบทวนหลักเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและการเตือนผู้ลงทุน 

ยกระดับบุคลากรซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทจดทะเบียน (รวมเรียกว่า “Line of defense” ซึ่งในโอกาสถัดไปจะนำเรื่องนี้มาขยายความกันอีกครั้ง) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงิน ส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ลงทุน (Investor empowerment) เพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ และสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้

ป้องปราม

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาระบบเพื่อแจ้งเตือนความผิดปกติหรือความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ โดย ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการนำ data และเทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแลให้มีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบได้

ปราบปราม

สำหรับ “มาตรการปราบปราม” มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การร่วมดำเนินการกับพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบการกระทำผิดที่สำคัญ การกำหนดโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่หลากหลายและได้สัดส่วนกับความรุนแรงของความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ การเพิ่มอำนาจในการสอบสวนและปกป้องพยาน เพื่อเร่งรัดกระบวนการเอาผิดให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการส่งเสริมการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class action) โดยสนับสนุนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ในการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนไม่ว่าจะเป็นในด้านความเสี่ยงจากการลงทุนตลอดจนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงมาตรการบางส่วนของ “โครงการผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง” ที่มุ่งเน้นมาตรการป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่อาจสร้างความเสียหายและกระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ตระหนักอยู่เสมอว่า มาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้จะต้องไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากจนเกินไป 

นอกจากการป้องกัน ป้องปราม และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ในกรณีที่มี “ปัญหา” เกิดขึ้นแล้ว ก.ล.ต. จะพยายามสกัดปัญหานั้นไม่ให้ลุกลามและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด รวมถึงป้องกันไม่ปล่อยให้ปัญหาเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต 

ก.ล.ต. กำหนดให้ “การสร้าง Trust and Confidence ในตลาดทุนไทย” เป็นภารกิจหลัก เพราะทราบดีว่า ความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก.ล.ต. จะพัฒนาให้เท่าทันและกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม โดยจะสื่อสารเพื่อให้ประชาชนและผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลและการดำเนินการต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. ผ่านคอลัมน์ “คุยกับ ก.ล.ต.” นี้อย่างสม่ำเสมอครับ