วางแผนการลงทุนหุ้นต่างประเทศปี 2567
วางแผนการลงทุนหุ้นต่างประเทศปี 2567 มี 3 แนววทาง 1. การนำเงินได้เข้ามาโดยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด 2.การเลือกที่จะไม่นำเงินได้เข้ามาเลย และ 3.การลงทุนในสินทรัพย์ทางอ้อมที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศ
สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน ผ่านปีใหม่มาแล้ว 1 เดือน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ได้ทราบกันแล้วว่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปนั้น รายได้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หากนำเข้ามาในปีใด ให้นับว่าเป็นรายได้ที่จะต้องเสียภาษีในปีนั้นๆ ซึ่งจากเงื่อนไขนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เพราะผลกำไรจากการลงทุนหากนำเข้ามาในประเทศไทย ก็จะต้องเสียภาษีรายได้ อีกทอดหนึ่งซึ่งมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35% เลยทีเดียว ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนหุ้นต่างประเทศที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ก็คงจะใช้ไม่ได้แล้ว คงถึงเวลาต้องปรับตัวกันใหม่ วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาสรุปแนวทางสำหรับ ผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มาให้ทราบกันครับว่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง
สำหรับการวางแผนภาษีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศนั้น พอจะแบ่งได้เป็น 3 แนวทางด้วยกันนั้นก็คือ 1. การนำเงินได้เข้ามาโดยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด 2.การเลือกที่จะไม่นำเงินได้เข้ามาเลย และ 3.การลงทุนในสินทรัพย์ทางอ้อมที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศ
แนวทางแรก คือการนำเงินเข้ามาโดยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดนั้น วิธีแรก ผู้ลงทุนสามารถใช้เงื่อนไขถิ่นที่อยู่ ในการที่จะไม่ต้องเสียภาษีได้ โดยหากปีไหนผู้ลงทุนอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน รายได้ที่นำเข้ามาในปีนั้นจะไม่ต้องเสียภาษี โดยวิธีนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและยุ่งยากสักหน่อย แต่ถ้าหากเทียบกับภาษีที่ต้องเสียแล้วคุ้ม ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้วิธีหนึ่ง วิธีที่สองก็คือ การทยอยนำเงินเข้ามาหลายๆก้อนแทนที่จะนำเข้ามาในทีเดียว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีในฐานภาษีที่สูงขึ้น โดยอาจจะนำเข้ามาในปีที่ผู้ลงทุนไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยในปีนั้นๆ โดยทั้ง 2 วิธีนี้จะไม่ค่อยเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการนำเงินเข้าออกบ่อยๆ สักเท่าไร
แนวทางที่สอง คือการเลือกที่จะไม่นำเงินเข้ามาเลย โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่มีแผนจะนำเงินไปใช้ในต่างประเทศอยู่แล้ว โดยวิธีนี้ผู้ลงทุนควรจะลงทุนควบคู่ไปกับการทำแผนใช้เงินไปด้วย ตัวอย่างเช่นการนำเงินไปลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศที่มีการปันผลสม่ำเสมอ เมื่อได้เงินปันผลมาก็นำไปจ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน หรือค่าเทอมสำหรับบุตรหลานในต่างประเทศ เมื่อทำได้ครบระยะเวลาตามแผนแล้วก็นำเงินต้นกลับเข้ามาในประเทศ ก็จะไม่เสียภาษีเป็นต้น โดยแนวทางนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนต่างประเทศเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในต่างประเทศ มากกว่าการลงทุนเพื่อนำเงินเข้ามาใช้ในประเทศ
แนวทางสุดท้าย คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหุ้นต่างประเทศ โดยแนวทางนี้เหมาะกับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก และต้องการนำผลตอบแทนมาใช้ในประเทศไทย โดยต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปที่หุ้นต่างประเทศด้วย โดยสินทรัพย์ลงทุนที่ว่ามาได้แก่ DR, DRx และกองทุนรวม
สำหรับ DR และ DRx คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยการลงทุนใน DR และ DRx นั้นจะเปรียบเสมือนกับเราได้เป็นเจ้าของหุ้นต่างประเทศที่ DR และ DRx นั้นๆอ้างอิงตัวอย่าง เช่น Microsoft และ Apple แต่เนื่องจาก DR และ DRx นั้นเป็นการลงทุนในตราสารแสดงสิทธิที่ออกในประเทศไทย ทำให้ไม่ถือเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ นั่นทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้นเอง อย่างไรก็ตามข้อเสียของ DR และ DRx นั้นอยู่ที่จำนวนของ DR และ DRx ที่มีในตลาดนั้นยังคงน้อยอยู่มาก จึงอาจจะไม่มี DR และ DRx ที่อ้างอิงกับหุ้นที่ผู้ลงทุนต้องการ
และสุดท้ายนี้ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดก็คือการลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกองทุนรวมให้เลือกมากมาย ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี และหากเป็นกองทุนอย่าง RMF หรือ SSF ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการลงทุนในกองทุนก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ และ อาจจะไม่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเฉพาะเจาะจงในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากกว่า
สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละวิธีการก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน โดยอาจจะมีต้องจ่ายภาษีบ้าง หรืออาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น หรืออาจจะได้ผลตอบแทนน้อยลงมาบ้าง ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่เราต้องยอมเสีย หากมันทำให้พอร์ตการลงทุนของเรามีการกระจายความเสี่ยง แทนที่จะกระจุกตัวอยู่แต่เพียงหุ้นไทย หรือกองทุนหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะเจอเหตุการณ์ตรงกับสำนวนที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ก็ได้ครับ