“เลือกตั้งสหรัฐฯ เข้าโค้งสุดท้าย ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกและไทย”

“เลือกตั้งสหรัฐฯ เข้าโค้งสุดท้าย ผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกและไทย”

ความสุ่มเสี่ยงของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปีนี้ซึ่งมาจากความเครียดของประชาชนที่แบ่งเป็นสองฝ่าย ทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกันนั้น อาจกลายเป็นตัวแปรที่นำมาสู่ความวุ่นวายในเวทีอื่นๆในโลกด้วย

อีกประมาณ 20 กว่าวันจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้คะแนนนิยมของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่สูสีกัน ต่างฝ่ายต่างทุ่มเทเพื่อเข้าเส้นชัยให้ได้ ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการสื่อสารรวดเร็วเจาะลึกและมีเทคโนโลยี AI เข้าถึงโทรศัพท์มือถือของผู้ลงคะแนนชาวอเมริกันแทบทุกคน ไม่มีใครที่จะหลบเลี่ยงการถล่มโดย texts, Tiktok, emails, และทุก Apps ของโซเชียลมีเดีย

Kamala Harris ฝ่ายเดโมแครตประกาศว่าได้รับเงินบริจาคตั้งแต่ 21 กรกฎาคม-8 ตุลาคม ค.ศ. 2024 แล้วเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติการหาเงินเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ทำให้ซื้อพื้นที่การโฆษณาช่วงโค้งสุดท้าย ผ่านสื่อออนไลน์และใช้เจ้าหน้าที่ร่วมกับอาสาสมัครเป็นจำนวนหลายแสนคนเคาะประตูบ้านอย่างคึกคัก ขณะที่ Donald Trump ฝ่ายรีพับลิกันเสียเปรียบด้านการเงินแม้มีสปอนเซอร์รายใหญ่ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงขณะนี้ได้รับเงินบริจาค 853 ล้านดอลลาร์

ความนิยมทั่วประเทศของTrump ขณะนี้อยู่ที่ 46% เทียบกับ Harris ที่ 48.4%

อย่างไรก็ตาม Trumpใช้ฝีมือการตลาดจี้ประเด็นเรื่องคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงทำให้ยากที่จะเดาออกว่าถึงวันเลือกตั้งผลจะออกมาเป็นอย่างไร

การลงทุนทางการเมืองเพื่อหวังให้ฝ่ายตนเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงเป็นเรื่องปกติ ส่วนผลประโยชน์แฝงอื่นๆนั้นก็เกิดขึ้นเสมอ การเลือกตั้งในประเทศที่มีอิทธิพลสูงมากหรืออาจจะสูงที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหรือปฏิบัติการบางอย่างให้ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯตอบแทนประโยชน์ให้กับประเทศของตน

การแทรกแซงทางไซเบอร์เสริมกับการแทรกแซงโดยหน่วยงานลับที่ใช้ทรัพยากรมนุษย์ทำให้ยากที่จะควบคุม รัฐบาลอเมริกันแถลงว่ามีหลักฐานชัดเจนว่า จีน อิหร่านและรัสเซีย กำลังแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และรายละเอียดแต่ละวิธีนั้นถูกนำมาเปิดเผยโดยสื่อมวลชน

การเลือกตั้งในสหรัฐฯครั้งนี้แบ่งเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศคือประธานาธิบดี วุฒิสภา (34 ที่นั่ง) และสภาผู้แทนราษฎร (435 ที่นั่ง) จนถึงระดับรัฐต่างๆที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (13 ที่นั่ง) และผู้บริหารชั้นสูงของรัฐรวมทั้งสภาในท้องถิ่นทุกระดับตั้งแต่เมืองใหญ่จนถึงเทศบาลเล็กๆ

การที่สหรัฐอเมริกามีโครงสร้างของการเมืองและวัฒนธรรมที่เปิดเผย ทำให้ข้อมูลต่างๆทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาลกลางจนถึงรัฐบาลท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ใครก็ตามในโลกสามารถจะศึกษาและนำมาวิเคราะห์ได้ การแทรกแซงทางไซเบอร์โดยประเทศที่เป็นคู่แข่งของสหรัฐฯจึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกว่า จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่ จะมีข้อครหาในความสุจริตเพียงใด และการสนทนาในกลุ่มโซเชียลมีเดียต่างๆซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมของการสร้างกระแสปลุกปั่นข่าวลือข่าวลวงต่างๆอาจนำมาสู่ความวุ่นวายอย่างรุนแรงหลังการเลือกตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายนและอาจต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม 2025 ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามารับตำแหน่งเป็นทางการ

ความสุ่มเสี่ยงของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปีนี้ซึ่งมาจากความเครียดของประชาชนที่แบ่งเป็นสองฝ่าย ทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกันนั้น อาจกลายเป็นตัวแปรที่นำมาสู่ความวุ่นวายในเวทีอื่นๆในโลกด้วย

ความขัดแย้งที่นับว่าเป็นอันตรายระดับสูงในปัจจุบัน เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลกับศัตรูรอบด้าน และการรุกรานของรัสเซียและการตอบโต้โดยยูเครน เป็นสองเรื่องที่ใช้อาวุธทำสงคราม และเกิดความเสียหายอย่างหนัก และบริเวณทะเลจีนใต้ที่เป็นการเผชิญหน้ากันแต่ยังถึงขั้นทำสงครามนั้นก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ 

กรณีอิสราเอลซึ่งปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงเพื่อตอบโต้การก่อการร้ายของฮามาสในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถึงขั้นบุกทำลายกาซ่าโดยยับเยิน ซึ่งสหประชาชาติประเมินว่าอาจใช้เวลาถึง 80 ปีในการสร้างและซ่อมแซมให้กาซ่ากลับมาเหมือนสภาพเดิม ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เทียบเท่ากับการสูญเสียชีวิตกว่า 40,000 คนและประชากรเกือบ 2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สถานการณ์นี้จะมีทางออกที่ดีกว่าหาก Harris เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนต่อไป แต่หาก Trump เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อิสราเอลจะเพิ่มความรุนแรงเพื่อชนะศึกในระยะสั้น (แต่จะแพ้สงครามในระยะยาวเนื่องจากขาดความชอบธรรมและสูญเสียพันธมิตรในเวทีโลก)

สถานการณ์ปัจจุบันในยูเครนยังตึงเครียดและไม่มีทางออกอย่างชัดเจน แต่ความเข้มแข็งทางการทหารของยูเครนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประเทศในกลุ่มนาโต้ด้วยอาวุธที่มีวิถีทำลายระยะไกลหลายร้อยกิโลเมตรและเพิ่งได้รับฝูงบินรบที่ทันสมัย ประกอบกับความเปราะบางในรัสเซียเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในรัสเซีย 9.1% และอัตราดอกเบี้ย 19% ต่อปี และการเสียขวัญและกำลังใจของชาวรัสเซียหลังจากทำสงครามที่ยังไม่เห็นผลมากว่าสองปี แต่สูญเสียชีวิตทหารเป็นจำนวนมากถึงขั้นต้องมีการเกณฑ์เพิ่มอีก 130,000 นาย

ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯสำคัญมากสำหรับยูเครนเนื่องจาก Trump ส่งสัญญาณชัดเจนว่าความช่วยเหลือจากอเมริกาจะสิ้นสุดทันที ซึ่งหมายถึงรัสเซียจะได้เปรียบโดยเฉียบพลัน และปลายปีนี้อาจเห็นยูเครนเปลี่ยนไป จากประเทศประชาธิปไตยที่มีอธิปไตย กลับไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียเช่นในอดีต

ช่วงปลายเดือนกันยายนตลาดหุ้นจีนบูมขึ้นมา เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านระบบธนาคารโดยเงินประมาณ 142,000 ล้านเหรียญ หากนับรวมการกระตุ้นตั้งแต่ต้นปีและรวมจำนวนใหม่นี้ด้วยประมาณ 1.07 ล้านล้านเหรียญแล้ว 

อุตสาหกรรมบางอย่างได้โมเมนตัมเพิ่มความมั่นใจภายในองค์กรและผู้บริโภคจึงเห็นราคาหุ้นขยับขึ้นบวกต่อไปอีก

ขณะเดียวกันหลายอุตสาหกรรมไม่สามารถจะใช้นโยบายกระตุ้นครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลจึงทำให้ราคาหุ้นร่วงกลับลงมาอีก และมีเสียงเรียกร้องว่ารัฐบาลจีนจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่ง มีข่าวลือว่าอาจอยู่ในวงประมาณ 253,000 ล้านเหรียญ

และฤดูนี้จีนจะมีบทบาทในเวทีโลกหลายอย่างซึ่งเปรียบเสมือนการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง เช่น BRICS (ประชุมที่รัสเซีย 22-24 ตุลาคม ซึ่งรัฐบาลไทยจะสมัครเป็นสมาชิกในครั้งนี้) และการลงทุนในประเทศต่างๆผ่าน China Development Bank, Asian Infrastructure Investment Bank, The Export–Import Bank of China และโครงการยุทธศาสตร์ใหญ่ต่างๆ รวมทั้ง BRI 

ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา สงครามร้อนหรือเย็นไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดในโลกโดยเฉพาะใน ภูมิภาคสุ่มเสี่ยงข้างต้นนั้นจะกระทบกระเทือนต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสถียรภาพของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะการขาดเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลและความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายจากระบบตุลาการผ่านองค์กรอิสระต่างๆ ประกอบกับสิ่งท้าทายซึ่งเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติที่ทำลายสถิติความรุนแรง เช่น อุทกภัยในหลายจังหวัด และอันตรายจากไฟป่ากับฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ รวมทั้งความเปราะบางทางเศรษฐกิจของกลุ่มที่มีรายได้น้อยและครอบครัวที่มีปัญหาหนี้สิน ฯลฯ

ความหวังฝากไว้กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังผลักดันด้วยความเร่งด่วนและความร่วมมือที่ไทยจะได้รับจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยผลงานของนักการทูตไทยที่ต้องเดินทุกก้าวด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเลือกค่ายในยุคภูมิรัฐศาสตร์ล่อแหลมในขณะนี้ครับ