“เงินคู่คลัง” เจาะลึก หุ้นได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของกนง.
สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงผู้อ่านจากประเด็น “การเงินคู่การคลัง” หรือ “กนง. ลดดอกเบี้ย” ก็คือ แม้ภาพรวม SET Index และ หุ้นกลุ่มการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก จะปรับตัวบวกกันถ้วนหน้า แต่จริงๆ แล้วในรายละเอียดหรือเชิงพื้นฐาน หุ้นแต่ละตัวได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน
ถือเป็นอีกเรื่องราวสุดเซอร์ไพร์ส หลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เป็น 2.25% โดยให้เหตุผลถึงการช่วยบรรเทาภาระหนี้ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงมาที่ระดับ 2.25% นั้นยังคงอยู่ในระดับที่เป็นกลาง
วัฏจักรขาลงของดอกเบี้ยไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้น ในบทความนี้ผมจึงอยากชวนคุยถึงกลุ่มหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของกนง. แบบ เจาะลึก...ลงรายละเอียด...ไม่ใช่เฉพาะเชิงจิตวิทยากันครับ
กลุ่มการเงิน คือ กลุ่มแรกที่นักลงทุนจะนึกถึงเนื่องจากกลุ่มการเงินมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้จำนวนมาก (แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่ระดมทุนผ่านเงินฝาก) ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจึงส่งผลให้ดอกเบี้ยของการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ลดลงตามไปด้วย ผมจึงได้นำภาพแผนการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มการเงินมาให้ผู้อ่านได้เปรียบเทียบและเห็นภาพแผนการระดมทุนของบริษัทว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่ง MTC BAM SAWAD และ KTC มีแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในสามถึงห้าปีข้างหน้า ดังนั้น หุ้นดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย 25bp หรือ ต้นทุนทางการเงินลดลงไป 0.25%
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คือ อีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยเนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ MLR MOR MRR ลงตาม อย่างไรก็ดีด้วยการลดดอกเบี้ยเพียง 25bp ภาพดังกล่าวอาจจะยังไม่ชัดเจนมากนักในแง่ของการกระตุ้นการบริโภคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นผมจึงได้ไปรวบรวมข้อมูลต้นทุนทางการเงิน หรือ D/E ratio ของหุ้นกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพิจารณาว่าหนี้ของบริษัทมีจำนวนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากหากบริษัทมีหนี้สูง ดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยให้บริษัทจ่ายหนี้น้อยลงตาม หากพิจารณาจากรูปภาพ SIRI LH ANAN ORI SC คือหุ้นที่ได้ประโยชน์มากกว่าเนื่องจากมี D/E ratio สูงกว่า
กลุ่มค้าปลีก คือ อีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม (Indirect effect) จากการลดดอกเบี้ย เนื่องจาก Wealth effect หรือ เงินในกระเป๋าที่มีมากขึ้น และ หากมองเจาะลึกไปในรายละเอียด ผมพบว่าหุ้นกลุ่มค้าปลีกไทยมีการกู้ยืมในรูปของเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loans) มากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งบริษัทที่มีการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยมากกว่า เพราะ ต้นทุนทางการเงินจะปรับลดลง 0.25% ไปโดยปริยาย ดังนั้น GLOBAL CRC DOHOME BJC จึงได้ประโยชน์กว่า CPALL CPAXT ในมุมมองของการลดดอกเบี้ย
สิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงผู้อ่านจากประเด็น “การเงินคู่การคลัง” หรือ “กนง. ลดดอกเบี้ย” ก็คือ แม้ภาพรวม SET Index และ หุ้นกลุ่
การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก จะปรับตัวบวกกันถ้วนหน้า แต่จริงๆแล้วในรายละเอียดหรือเชิงพื้นฐาน หุ้นแต่ละตัวได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน
ดังนั้นในฐานะนักกลยุทธ์การลงทุน นักเศรษฐศาสตร์เชิงมหภาค ผมจึงต้องแยกระหว่างจิตวิทยาที่ส่งต่อราคาหุ้น กับ พื้นฐานของหุ้นตัวนั้นๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงข้อแตกต่าง... ดั่งคำกล่าวที่ว่า “Devil is in the Details” ยังไงล่ะครับ