“อัปเดตการพัฒนา SEC Digital Services มุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (2)”
ก.ล.ต. ยังเดินหน้าพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าถึงบริการตลาดทุน เช่น ธปท. คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันโครงการ “Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” เพื่อให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีได้ง่ายและรวดเร็ว บริหารจัดการทางการเงินที่ดีขึ้น
ในครั้งที่แล้ว เราคุยกันเรื่องการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลของ ก.ล.ต. (SEC Digital Services) ว่าที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอะไรบ้างและแต่ละเรื่องมีความคืบหน้าอย่างไร ทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล การยกระดับการกำกับดูแลด้วยเทคโนโลยี การส่งเสริมนวัตกรรมด้านดิจิทัลผ่านโครงการ Regulatory Sandbox และการพัฒนาบุคลากรภาคตลาดทุน รวมทั้งในปี 2568 ก.ล.ต. มีแผนการพัฒนาการให้บริการดิจิทัลในด้านใดบ้าง เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยไปสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”
หากยังจำกันได้ แผนพัฒนาการให้บริการดิจิทัล ในปี 2568 ก.ล.ต. มุ่งเน้น 3 ด้านหลัก คือ (1) Empowering Business (2) Streamlining Services และ (3) Democratizing Wealth ซึ่งครั้งที่แล้วผมเล่ารายละเอียดในด้านการขับเคลื่อนดิจิทัลอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัยอันจะช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายและวิกฤตต่าง ๆ ได้ดีขึ้น (Empowering Business) ไปแล้ว และสัญญาไว้ว่าจะมาเล่าถึงด้าน Streamlining Services และ Democratizing Wealth กันต่อนะครับ
(2) Streamlining Services: การยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการดิจิทัลตลอดสาย แบบ end-to-end เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เพิ่มความโปร่งใส และสนับสนุนการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบริการที่ ก.ล.ต. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่น e-Licensing และ Stakeholder Services Portal (SSP)
e-Licensing สำหรับผู้ขอประกอบธุรกิจใหม่ เป็นบริการที่ ก.ล.ต. ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในการพัฒนาระบบอนุมัติอนุญาตให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลตลอดสาย โดยผู้ขอประกอบธุรกิจสามารถยื่นคำขอผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือ ผู้มีอำนาจลงนามแบบดิจิทัล ซึ่งนอกจากเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ขอประกอบธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบตัวตนผู้ประกอบธุรกิจผ่าน QR code บนใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย
Stakeholder Services Portal (SSP) เป็นการรวมศูนย์บริการแบบ one-stop service ที่อำนวยความสะดวกครอบคลุมบริการแบบเฉพาะเจาะจง (personalized) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย โดยให้บริการแบบครบวงจร อำนวยความสะดวกในการติดต่อและติดตามการดำเนินงานร่วมกับ ก.ล.ต. รวมถึงการแจ้งข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ตามที่หลายท่านทราบกันแล้วว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในตลาดทุน จึงร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมธนาคารไทย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุน (Digital Infrastructure) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “โครงการ DIF” เพื่อเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ปรับเปลี่ยนกระบวนการในตลาดทุนให้เป็นรูปแบบดิจิทัล 100% และให้บริการในทุกผลิตภัณฑ์ตลาดทุน โดยได้เริ่มที่ตราสารหนี้ภาคเอกชน (plain vanilla) สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งต้องขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยให้การพัฒนา DIF Web Portal ในเฟสแรกประสบความสำเร็จ
ในเฟสถัดไปจะขยายขอบเขตการพัฒนาระบบรองรับการออกเสนอขายตราสารหนี้เอกชน (plain vanilla) ให้ครบถ้วนสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนทุกประเภท และรองรับการออกเสนอขายตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้เอกชนที่มี ความซับซ้อน (complex bond) รวมทั้งมีแผนจะพัฒนาระบบ Digital Infrastructure ให้ครอบคลุมกิจกรรม ในตลาดรอง (secondary market)
อีกทั้งยังอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (digital/tokenized securities) เช่น หุ้นกู้ หุ้น หน่วยลงทุน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2568
(3) Democratizing Wealth: การพัฒนาระบบดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น ช่วยเพิ่มการลงทุน กระจายความเสี่ยง และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่ ก.ล.ต. ดำเนินการไปแล้ว เช่น SEC Open Data Services และ Awareness of Scam
SEC Open Data Services เป็น “ศูนย์รวมข้อมูลเปิดตลาดทุน” ที่ครบถ้วน ครอบคลุมข้อมูลภาพรวมใน ตลาดทุน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์การลงทุน ข้อมูลภาพรวมผู้ลงทุน ข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจและบุคลากรในตลาดทุนที่ ก.ล.ต. มีอยู่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลเปิดอื่น โดยเน้นตอบโจทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ นักวิเคราะห์ และผู้ที่สนใจ ให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวก นำไปใช้ประโยชน์ ได้จริง สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอด ตลอดจนสร้างบริการที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนได้ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนตลาดทุนอย่างยั่งยืน
Awareness of Scam ก.ล.ต. ได้เปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย หรือสงสัยว่าถูกชักชวนหลอกลงทุน โดยประชาชนสามารถโทรขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแส โทร. 1207 กด 22 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. โดย ก.ล.ต. ได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น
ก.ล.ต. ยังได้สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามการหลอกลงทุน (Scam) ผ่านเครื่องมือดิจิทัล เช่น Investor Alert/Scam Alert แจ้งเตือนรายชื่อผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และ SEC Check Tools ซึ่งเป็น Portal รวมเครื่องมือการตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจในตลาดทุนและผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากช่วยป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลงทุนแล้ว ยังช่วยให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ในการลงทุน เพื่อสร้างความมั่งคั่งรองรับการเกษียณอายุ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเดินหน้าพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการเข้าถึงบริการตลาดทุน เช่น การร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันโครงการ “Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์” เพื่อให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีได้ง่ายและรวดเร็ว บริหารจัดการทางการเงินที่ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้นด้วยครับ
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ